มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศถูกบังคับใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งรวมถึงคำสั่งห้ามการรวมตัวหรือชุมนุมกันในที่สาธารณะและภายในอาคาร แต่ผู้ชุมนุมในหลายประเทศยืนยันว่า จำเป็นจะต้องออกมาแสดงจุดยืนในประเด็นต่างๆ เพื่อสะท้อนไปยังรัฐบาลและผู้รับผิดชอบในการรับมือหรือแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยอมรับว่า การรวมตัวอาจนำไปสู่การแพร่เชื้อไวรัสอันตรายได้จริง หลายประเทศจึงปรับวิธีชุมนุม หรือผู้ชุมนุมในบางประเทศยังยืนยันจะใช้วิธีการแบบเดิมๆ และฝ่าฝืนมาตรการล็อกดาวน์ออกมาแสดงจุดยืน
เรียกได้ว่าเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการชุมนุมประท้วงช่วงล็อกดาวน์ เพราะมีการเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์รัฐ 'ฌาอีร์ โบลโซนารู' ประธานาธิบดีที่มีแนวคิดชาตินิยม ผู้ปฏิเสธว่าโรคโควิด-19 ไม่ใช่ 'โรคร้ายแรง' เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่กลุ่มผู้สนับสนุน ปธน.โบลโซนารู จะออกมาโต้กลับในเดือน เม.ย. โดยระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์ควรยุติได้แล้ว
กลุ่มประชาชนชาวบราซิลที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่พอใจท่าทีของรัฐบาลโบลโซนารู ใช้วิธีเคาะหม้อเคาะกระทะ รวมถึงเคาะเครื่องครัวอื่นๆ เพื่อส่งเสียงดังประท้วงรัฐบาลจากที่พักอาศัยของตัวเองในช่วงล็อกดาวน์ โดยมีการนัดหมายแสดงพลังกันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
ประเด็นหนึ่งซึ่งทำให้ผู้ประท้วงไม่พอใจก็คือความล่าช้าของรัฐบาลในการปกป้องบุคลากรการแพทย์ ทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยและรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องล้มป่วยติดเชื้อเป็นจำนวนมาก รวมถึงกรณีที่ ปธน.โบลโซนารู สั่งปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาเตือนคนให้ระมัดระวังโรคโควิด-19
แม้จะมีผู้ต่อต้าน แต่รัฐบาลบราซิลก็ยังมีผู้สนับสนุนอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เมื่อ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลได้เคลื่อนขบวนรถยนต์ไปตามเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเรียกร้องให้ยุติมาตรการล็อกดาวน์และกักตัว ซึ่งแม้การชุมนุมจะใช้วิธีขับรถตามกันไปห่างๆ ตามนโยบายเว้นระยะทางสังคม หรือ social distancing พร้อมชูป้ายข้อความแสดงจุดยืนต่อต้านการล็อกดาวน์ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้ชุมนุมก็รวมตัวกันในพื้นที่สาธารณะ โดยที่หลายคนไม่ใส่หน้ากากอนามัย
การรวมตัวของกลุ่มนี้ทำให้บุคลากรการแพทย์และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพร้อมใจประณาม ปธน.โบลโซนารู เพราะนอกจากจะไม่ห้ามปรามผู้ที่สนับสนุนตัวเองแล้ว เขายังไปเข้าร่วมปราศรัยในการชุมนุมโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ทั้งยังไอออกมาหลายครั้งขณะอยู่กลางผู้คนอีกด้วย
รัฐบาลบังกลาเทศสั่งปิดโรงงานและกิจการหลายประเภทช่วงปลายเดือน มี.ค. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้ประกอบการและเจ้าของกิจการส่วนใหญ่ยอมให้ความร่วมมือ แต่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สำคัญของบังกลาเทศ รวมตัวกันปิดถนนในกรุงธากาเมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกดดันเจ้าของโรงงานหรือเจ้าของธุรกิจให้ดำเนินการเรื่องค่าแรงที่ค้างจ่ายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
แรงงานที่เข้าร่วมการชุมนุมระบุว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อเลี้ยงครอบครัวให้รอดในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งการชุมนุมยืดเยื้อข้ามคืน และตัวแทนรัฐบาลต้องมาเจรจา แต่ยังไม่อาจระบุได้ว่า ข้อเรียกร้องของเหล่าผู้ชุมนุมจะได้รับการตอบสนองเมื่อใด
นักเคลื่อนไหวทางสังคมและสมาชิกสหภาพแรงงานกลางของพนักงานบริษัทอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลกลางอินเดีย รวมตัวกันที่เมืองบังกาลอร์ ยืนชูป้ายอย่างห่างๆ ตามนโยบาย social distancing เรียกร้องการชดเชยและเยียวยาจากภาครัฐ เมื่อ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา
ผู้ชุมนุมย้ำว่า รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์โดยไม่มีแผนการอื่นๆ รองรับ ส่งผลกระทบต่อผู้คนในภาคเกษตร และไม่มีมาตรการชัดเจนในการช่วยเหลือประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปิดกิจการต่างๆ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ต้องหยุดงานเป็นผูัที่มีฐานะยากจน เมื่อไม่มีรายได้ก็ดำรงชีวิตอยู่ได้ยาก
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงสถานที่กักตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกรุงอิสลามาบัด ซึ่งอยู่ในความดูแลของหน่วยงานรัฐบาล รวมตัวกันห่างๆ ยืนเว้นระยะราว 1.5 เมตร พร้อมสวมหน้ากากอนามัย ชูป้ายข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนเรื่องสถานที่กักตัว เพราะคนในชุมชนเกรงว่าการบริหารจัดการที่ไม่ได้มาตรฐานจะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนต่างๆ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลย้ายสถานที่กักตัวไปที่อื่น
กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมบันเทิง วัฒนธรรม และกิจกรรมอีเวนต์ต่างๆ รวมตัวกันที่กรุงเทลอาวีฟของอิสราเอลเมื่อ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นการชุมนุมต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้คนในอุตสาหกรรมด้านนี้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์
ผู้ชุมนุมนับร้อยคนได้รวมตัวกันโดยยืนเว้นระยะตั้งแต่ 1.5 - 2 เมตร พร้อมชูป้ายข้อความ และจัดแสดงแสงสีเสียงเป็นตัวอักษรเพื่อสะท้อนความลำบากที่พวกเขาได้รับ
กลุ่มผู้ชุมนุม Black Flag ใช้ธงชาติอิสราเอลสีขาวดำ เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นสีขาวน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงต่อต้านนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู และเป็นการประท้วงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน มี.ค. โดยมีชนวนเหตุจากกลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ไม่พอใจที่เนทันยาฮูยื้ออำนาจ อยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 10 ปี ทั้งยังถูกกล่าวหาในคดีทุจริตคอร์รัปชันหลายกระทง แต่เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด มีการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้ประเด็นเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ถูกขัดจังหวะ ผู้ชุมนุมจึงใช้ธงดำเป็นสัญลักษณ์ ผูกหรือแขวนตามที่พักอาศัยและจุดต่างๆ เพื่อแสดงจุดยืนต้านนายกฯ เนทันยาฮู
จนกระทั่งเริ่มมีการประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ เพราะไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลใช้วิธีเก็บข้อมูลและควบคุมประชาชนโดยใช้กฎหมายที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทำให้ผู้ชุมนุมออกมารวมตัวกันที่จัตุรัสราบินเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้ชุมนุมยืนเว้นระยะห่างอย่างชัดเจน และมีการแจกหน้ากากอนามัยให้ผู้ชุมนุมสวมใส่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค
ในระหว่างที่ชาวอิสราเอลประท้วงต่อต้านรัฐบาลและมาตรการล็อกดาวน์ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ก็มีการชุมนุมของกลุ่มชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านคฟาร์คัดดัม ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง ทำให้เกิดเหตุปะทะระหว่างชาวปาเลสไตน์และเจ้าหน้าที่ชาวอิสราเอลอยู่เป็นประจำ
การชุมนุมครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 17 เม.ย. ชาวปาเลสไตน์รวมตัวกันเพราะไม่พอใจวิธีจัดการและป้องกันโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน แต่ถูกเจ้าหน้าที่อิสราเอลยิงปืนเข้าใส่เพื่อสลายการชุมนุม
ผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจท่าทีของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งกำลังถูกโจมตีอย่างหนักในสื่อสังคมออนไลน์ ว่าปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ไม่รีบประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งที่ได้รับแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลตั้งแต่เดือน ก.พ. ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดในโลก
ผู้ชุมนุมนำถุงเก็บศพปลอมไปวางเรียงบนทางเท้าด้านหน้าโรงแรมทรัมป์อินเตอร์เนชั่นแนล กิจการของตระกูลทรัมป์ในกรุงวอชิงตัน เพื่อประท้วงรัฐบาลทรัมป์ซึ่ง 'ล้มเหลว' ด้านการปกป้องชีวิตประชาชน
ผู้ประท้วงรายหนึ่งสวมหน้ากากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในชุดกาวน์ ถือป้ายข้อความระบุว่า "ทางรอดของมนุษย์ราคาแพงเกินไป" โดยผู้ประท้วงจงใจยืนอยู่ที่หน้าโรงพยาบาลพรอวิเดนซ์ เซนต์จอห์น ในเมืองซานตามอนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ รพ.ยกเลิกคำสั่งพักงานพยาบาล 10 คน ซึ่งเรียกร้องให้รัฐและผู้บริหาร รพ. เร่งจัดหาชุดป้องกัน PPE มาให้แก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่รับมือผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคโควิด-19 แต่กลับถูกลงโทษทางวินัยด้วยการพักงาน
ประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปล่อยตัวผู้อพยพและผู้ที่ยื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยซึ่งถูกกักตัวบริเวณชายแดนเอลพาโซ รัฐเท็กซัส เนื่องจากเกรงว่าผู้ถูกกักตัว ซึ่งมีทั้งเยาวชนและกลุ่มผู้ร่างกายอ่อนแอ จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงภัยโรคติดต่อ ทั้งยังพบผู้ถูกกักตัวมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวกไปเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ ปธน.ทรัมป์ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ปกป้องสิทธิผู้อพยพ ทำให้เกิดการรวมตัวเคลื่อนขบวนรถยนต์ และผู้ชุมนุมได้เขียนข้อความท้ายรถยนต์ ชักชวนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะบีบแตรแสดงการต่อต้านนโยบายดังกล่าวของทรัมป์
กลุ่มผู้สนับสนุน ปธน.ทรัมป์ และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการปิดกิจการ-ห้างร้าน และโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ออกมารวมตัวกันในหลายเมืองทั่วประเทศ ตั้งแต่กลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โดยการชุมนุมในบางที่ใช้วิธีขับรถเคลื่อนขบวนไปตามท้องถนนพร้อมชูป้ายเรียกร้องรัฐบาลให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์
แต่ในบางพื้นที่ก็มีการชุมนุมรวมตัวกันโดยไม่ได้เว้นระยะห่างแต่อย่างใด และผู้ชุมนุมบางรายยังนำอาวุธปืนมาด้วย เพราะบางรัฐอนุญาตให้ประชาชนพกปืนได้อย่างเปิดเผย ส่วนผู้ชุมนุมที่เป็นผู้ปกครองมองว่าพวกเขาต้องออกมาเรียกร้องเพื่อให้เด็กๆ ได้มีชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเด็กต้องการพื้นที่และการออกกำลังกายกลางแจ้ง
ภาพจาก: AFP
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: