วันที่ 17 ก.พ. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 10 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ จากยอดสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ว่ามี 666 คน แบ่งเป็น ส.ว.249 คน และ ส.ส. 417 คน โดยเมื่อช่วงเช้ามี ส.ส.ลาออกเพิ่มเติมอีก 1 คน องค์ประชุมกึ่งหนึ่งต้องใช้จำนวน 333 คน
โดยแม้จะเลยเวลาการเปิดประชุมมาเกือบชั่วโมง องค์ประชุมก็ยังขาดอยู่ 30 คน ทำให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานการประชุมในขณะนั้น ต้องรอองค์ประชุมอยู่นาน จนช่วงหนึ่งได้กล่าวติดตลกว่า "อย่าให้สภาฯ ล่มแต่เช้าเลยครับ"
กระทั่งเวลาประมาณ 10.20 น. จึงสามารถเปิดประชุมได้ หลังมีสมาชิกแสดงตนเกินกึ่งหนึ่งมาเพียง 1-2 เสียง และที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติเป็นรายมาตรา จนถึงมาตรา 15 เรื่องการจัดการศึกษาเอกชนให้บรรลุตามเป้าหมาย เกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวอภิปรายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในร่าง พ.ร.บ
การศึกษาฉบับนี้ ค่อนข้างเร่งรีบ เร่งทำในปลายสมัยรัฐบาล ในขณะเดียวกันผู้ที่ปฏิบัติงานมีการแสดงออกที่ค่อนข้างต่อต้านต่อต้านบางส่วน ไม่เห็นด้วย เช่น เงินประจำตำแหน่งของ ผอ.เขต จึงต้องเรียนว่าเป็นสิ่งที่กังวลใจ
“ชะลอไปก่อน รอเป็นรัฐบาลใหม่ที่มีความสุขกัน พร้อมหน้าพร้อมตากัน พี่รู้สองน้องรู้หนึ่งต้องช่วยกัน เพื่อกำหนดชะตากรรมการศึกษา ถ้าตราบใดเราเร่งรีบแล้วเกิดการผิดพลาดขึ้นมา ผมคิดว่าไม่มีความสุข ผลต่อลูกศิษย์ คุณภาพต่อผู้เรียนจะดีไหมครับ” เกษม กล่าว
ทำให้ ชวน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องฝากถามรัฐบาล เพราะเรื่องนี้เป็นกฎหมายรัฐบาล ตนได้ทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้เป็นเจ้าของกฎหมายนี้แล้ว รวมถึงทำจดหมายไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้วด้วย ว่าต้องการอย่างไร หากต้องการให้กฎหมายนี้ผ่าน ก็ต้องนำองค์ประชุมมาด้วย แต่หากเกษมในฐานะอยู่พรรครัฐบาล คิดอย่างนี้ ตนฝากไปหารือกับรัฐบาลด้วย
“เวลาเป็นของมีค่ามาก ถ้าเราไม่พร้อมแล้วต้องมาเสียเวลาอยู่อย่างนี้ เวลาไม่ใช่ของเราคนเดียว ไม่ใช่ของผมคนเดียว ของพวกเราทุกคน รวมกันแล้วเป็นเวลามหาศาลที่เราเสียไป ถ้าเราไม่เต็มใจที่จะทำ ถ้าเป็นไปได้ ในฐานะอยู่รัฐบาล ท่านเกษมก็ไปหารือรัฐบาล ว่าต้องการให้สภาฯ ทำอย่างไร คือทำให้งานของเรา ฝ่ายนิติบัญญัติ สมบูรณ์ที่สุด ผมกราบเรียนไปแล้วว่าอยากให้งานของรัฐสภาผ่านไปได้ร้อยทั้งร้อย”
ชวน กล่าวต่อไปว่า ตนได้จัดระเบียบการประชุมให้ผ่านไปทุกเรื่อง แต่ว่าเมื่อสะดุดด้วยความรู้สึกและความเห็นที่แตกต่างมาจากฝ่ายรัฐบาลเอง เราก็เลยไม่แน่ใจว่าต้องการอย่างไร เพราะกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องการพิจารณา ถ้าเป็นไปได้อยากให้ชี้แจงเป็นความเห็นมา ซึ่งเราจะต้องอดทนกันอย่างนี้ แต่ก็เป็นหน้าที่ เราต้องทำ แม้วันนี้จะประชุมกันไปจนถึง 3.00 น. ตนก็ยินดีอยู่ทำหน้าที่
“เราต้องอดทนเพื่อรอองค์ประชุมเพียงมาตราเดียว เราใช้เวลาไปเท่าไหร่ คนที่ทำงานก็รู้ว่าเวลามีค่าอย่างไร เรียนท่านเกษม แม้ไม่ใช่รัฐมนตรี แต่ในฐานะฝ่ายรัฐบาล ท่านเกษมเป็นผู้ใหญ่ที่มาชีวิตการศึกษามามากแล้ว ผมรู้จักท่านดี ท่านลองหารือดู” ชวน เสนอ
จากนั้น ชวน ได้สอบถามประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า สภาฯ จะดำเนินการไปแบบนี้หรือไม่ ถ้ามีปัญหาความไม่พร้อม ทำให้ ดวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการประชุมหารือกันเรียบร้อย ส่วนที่ประชุมจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง องค์ประชุมเท่านั้นที่จะทำให้กฎหมายเคลื่อนไปข้างหน้า