วันที่ 29 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และคณะประชาชนทวงคืนความยุติธรรม 2553 (คปช.53) พร้อมญาติผู้สูญเสีย ยื่นหนังสือถึง ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทวงคืนสัญญารื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุมที่ถูกแช่แข็งตั้งแต่ปี 2553
โดย นพ.เหวง กล่าวว่า เรามีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนฝ่ายพรรคการเมือง ตัวแทนตัวแทนผู้สูญเสีย นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และนักกฎหมาย เพื่อตรวจสอบคดีความกรณีปี 2553 ที่ถูกแช่แข็ง ซึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือตามหลักนิติรัฐนิติธรรม รวมทั้งคดีความที่ถูกปฏิบัติต่อเยาวชน และประชาชนในปี 2563
โดยให้เป็นไปตามกฏหมายที่ได้ลงนามหลักสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ (UN) รวมถึงเร่งรัดคดีความที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชนซึ่งยังค้างคาอยู่ที่หน่วยงานต่างๆ
นอกจากนี้ เสนอให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธรรมนูญศาลทหาร พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธรรมนูญศาลยุติธรรม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีที่ทหาร และนักการเมืองทำความผิดทางอาญาต่อประชาชนให้ขึ้นศาลพลเรือน ไม่ใช่ขึ้นศาลทหาร นักการเมืองขึ้นศาลนักการเมือง เหมือนที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
รวมถึงขอให้ลงนามรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีเหตุการณ์ 2553 ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แต่ประการใด
นพ.เหวง กล่าวต่อว่า ให้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขให้ได้รัฐธรรมนูญของประชาชนให้ได้ระบอบประชาธิปไตยแท้จริง และแก้ไขกฎหมายอื่นอันเป็นผลพวงการทำรัฐประหาร รวมทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรรัฐซ้อนรัฐ กอ.รมน. กฎหมายอาญา ม.112 และม.116 ที่กลายเป็นเครื่องมือจัดการผู้เห็นต่างทางการเมือง ตลอดจนดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกองทัพ และองค์กรอิสระอย่างจริงจัง
นอกจากนี้ยังเสนอให้กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลางไปยังภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ เจ้าขุน มูลนาย และการคอร์รัปชั่นส่งนายใหญ่ตามลำดับให้ผู้บริหารผ่านการเลือกตั้งของประชาชนและถูกตลวจสอบได้ง่าย และให้วุฒิสมาชิก (สว.) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมด หรือมาจากประชาชนโดยอ้อม ผ่านการคัดสรรตามโควตา สส. ในรัฐสภาของพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งทั่วไป
นพ.เหวง กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ เราสนับสนุนการนิรโทษกรรมคดีความของผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ไม่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเรียกร้องทวงความยุติธรรมของประชาชน เพื่อการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ ที่กระทำผิดกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้อเรียกร้องของเราในกรณีการปราบปรามประชาชนปี 2553 เป็นข้อเรียกร้องให้รัฐดำเนินการตามกฎหมายของประเทศและระหว่างประเทศที่เราลงนามไปแล้ว เพื่อที่ในอนาคตจะได้ไม่มีการฆ่าประชาชนมือเปล่ากลางถนนครั้งแล้วครั้งเล่าอีกต่อไป
ด้าน ชัยธวัช ผู้รับหนังสือกล่าวว่า ในฐานะฝ่ายค้านเราพยายามที่จะค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับเหตุการณ์การสลายการชุมนุม ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะยังเป็นฝ่ายค้านอยู่ เราพยายามทำอย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาตนได้ประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอยู่เป็นระยะ เพื่อที่จะติดตามความคืบหน้าของเหตุการณ์ทั้งหมดที่ค้างอยู่ในสารบบซึ่งยังไม่มีการสั่งฟ้องขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลยุติธรรม
ไม่ว่าจะเป็นคดีความที่มีการยื่นสั่งฟ้องไปแล้ว แต่ก็ยังถูกตีตกด้วยสาเหตุ ในแง่เทคนิคทางกฎหมาย อย่างน้อยทั้ง 62 ศพที่ยังไม่มีการไต่สวนการเสียชีวิตจนถึงวันนี้ ก็มีการติดตามอยู่เป็นระยะเพื่อที่จะมีการผลักดันให้คดีความเหล่านี้มีความคืบหน้าก็เป็นเรื่องที่เราติดตามอยู่ จึงขอแจ้งให้ญาติวีรชนได้รับทราบ
ชัยธวัช กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลจะมีการรับข้อเสนอเพื่อผลักดันให้มีคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งน่าจะมีหลายช่องทาง ทั้งนี้ หากจะให้มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการชุดนี้ต้องมีอำนาจทางกฎหมายพอสมควร ซึ่งตนก็อยู่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ได้พูดคุยกันเฉพาะเรื่องนิรโทษกรรมเพียงอย่างเดียว แต่มีการค้นหาความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น
แน่นอนว่า เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดคือการสลายการชุมนุมปี 2553 โดยตนใช้ช่องทางนี้ในการผลักดันด้วย ขณะเดียวกัน กมธ.ของสภาฯ ก็น่าจะทำได้ แต่อาจจะมีข้อจำกัดในการเรียกพยานหลักฐานและบุคคล รวมถึงจะมีการหารือกันกับ กมธ.การกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าจะมีฝ่ายรัฐบาลเป็นประธาน กมธ.แต่ก็คิดว่าจะสามารถพูดคุยกันได้
ชัยธวัช กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังได้มีการพิจารณากฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาทบทวนกฎหมายความมั่นคงต่างๆ ที่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้ โดยที่ไม่ต้องรับผิด รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมปี 2553 ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมาก