ไม่พบผลการค้นหา
'วันนอร์' สั่งงดประชุมร่วมรัฐสภา 16 ก.พ. เหตุ 'ชูศักดิ์' ขอถอนร่างกฎหมาย ป.ป.ช.-วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ ไปทบทวนให้รอบคอบ 'ชูศักดิ์' เผยถอนร่างกฎหมายเหตุองค์กรอิสระไม่เห็นด้วย ลั่นไม่ได้ยกเลิก แต่ขอเอากลับไปศึกษาให้ละเอียด

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. เวลา 09.10 น. ที่รัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่าการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 16 ก.พ. เพื่อพิจารณ 3 วาระ ประกอบด้วย ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ยกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยการโหวตนายกฯ, ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ตนได้สั่งงดการประชุมออกไป เนื่องจาก ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ขอถอนร่างกฎหมายปราบทุจริต และร่างกฎหมาย ป.วิอาญาฯ ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าขอนำกลับไปพิจารณาทบทวนเพื่อให้เกิดความรอบคอบแล้วจึงจะนำกลับเข้ามาพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งต่อไป แต่การขออนุญาตนำกลับไปทบทวนต้องขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ เนื่องจากร่างดังกล่าวอยู่ในระเบียบวาระแล้ว ฉะนั้น ตนเห็นว่าจะทำให้เสียเวลาหากจะเปิดประชุมมาเพื่อขอมติที่ประชุม ดังนั้น จึงได้สั่งงดประชุมแล้วไปขอมติที่ประชุมในการประชุมร่วมรัฐสภาครั้งถัดไป ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะนัดอีกครั้งเมื่อใด เนื่องจากต้องดูความพร้อมและประชุมร่วมของวิปทั้ง 3 ฝ่าย 

เมื่อถามว่าในระเบียบวาระจะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ชัยธวัช มีความประสงค์ตั้งแต่ครั้งที่แล้วว่ายังไม่เสนอในที่ประชุมเพราะถึงอย่างไรร่างรัฐธรรมนูญจะมีการพิจารณาแก้ไขอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องที่ ชัยธวัชเสนอก็เกี่ยวข้องกัน และอีกประการในเดือน พ.ค.นี้ สว. ก็จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งลงอยู่แล้วด้วย มาตรา272ก็จะไม่มีอำนาจอะไร ดังนั้น จะแก้ไขหรือไม่แก้ไขก็ไม่ได้มีผลอะไร

ชูศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการถอนร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะมีการพิจารณา ร่วมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) ว่า เมื่อการพิจารณาดูอย่างรอบคอบแล้ว มีปัญหาพอสมควร เรื่องใหญ่คือเรื่องที่องค์กรอิสระทั้งหลายไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นเจ้าของกฎหมาย เขาบอกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้เขาต้องการให้ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระ องค์กรเดียวที่จะฟ้องนักการเมืองต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญานักการเมือง ซึ่งมีการเขียนไว้เฉพาะในมาตรา 235 หากเราเอาผู้เสียหายไปฟ้องได้ เขาก็บอกว่าอาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และในความหมายที่เขาตอบมาคือหากผลักดัน กฎหมายสำเร็จคงต้องส่งให้ป.ป.ช.พิจารณาด้วย ซึ่งป.ป.ช. เห็นว่าหากขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งนี่เป็นความเห็นของป.ป.ช. โดยเลขาธิการได้มาแถลงมติของคณะกรรมการป.ป.ช. เสร็จแล้วบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด ก็มีความเห็นเฉพาะว่า ให้ผู้เสียหายขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการได้ แต่ถึงขนาดที่สามารถฟ้องเองได้เขายังไม่เห็นด้วย ซึ่งเมื่อได้มาคิดทบทวนประมวลดูแล้ว หากเราผลักดันต่อไปก็จะเป็นประเด็นปัญหา เรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น จึงขอถอนเรื่องออกมาก่อนแล้วมาศึกษาในรายละเอียด ให้รอบคอบว่าหากเสนอไปแล้วจะไม่เป็นปัญหา

ชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ความหมายคือจะเขียนกฎหมายอย่างไรไม่ให้ไปขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะยกเลิกหรือไม่ได้ดำเนินการ เราได้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราแถลงนโยบายไว้ตลอด เพียงแค่เอากฎหมายหรือร่างมาดูให้รอบคอบ ซึ่งได้นำเรียนนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ท่านก็ได้สั่งให้งดประชุม ส่วนเรื่องกรอบระยะเวลาที่จะเสนอสู่ที่ประชุมอีกครั้งนั้น อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพัก 

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเรื่องของการเมืองหรือไม่เพราะเพิ่งมีการเสนอร่างเข้าไป ชูศักดิ์ กล่าวว่า จริงๆ ยื่นมานานแล้ว และพรรคการเมืองต่างๆเขาก็มาดูคอมเมนต์ ดูที่เขาให้ความเห็น รวมถึง ป.ป.ช. อัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเมื่อดูความเห็นแล้วเขาก็เป็นห่วงเขาก็เป็นห่วง