ไม่พบผลการค้นหา
‘บุ้ง’ อาการวิกฤติหลังอดอาหารในเรือนจำ 30 วัน ค่าโพสแทสเซียมต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจเกือบตาย ‘ธงชัย-ไทเรล’ เขียนจดหมายถึงประธานศาลอาญากรุงเทพใต้ ขอคืนสิทธิประกันตัว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานบันทึกเยี่ยมของ บุ้ง และ ใบปอ สองนักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิการประกันตัวในคดี 112 จากการทำโพลสอบถามความเห็นประชาชนเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ทั้งคู่ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 65 และอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 65 

การอดอาหารโดยดื่มเพียงน้ำเปล่าและเกลือแร่เท่านั้น เป็นเวลานานกว่า 30 วัน ส่งผลต่อสภาพร่างกายของทั้งคู่ สำหรับ บุ้ง พบว่า มีอาการอ่อนเพลีย ตาพร่า มึนเบลอ ตอบสนองช้า หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก โดยเธอถูกส่งเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์กลางดึกของวันที่ 21 มิ.ย. 

ล่าสุดบุ้งได้สื่อสารกับทนายความระบุว่า แพทย์วินิจฉัยว่า มีภาวะโพสแทสเซียมต่ำ และกล้ามเนื้อหัวใจเกือบตาย เวลานี้บุ้งยังให้น้ำเกลืออยู่ มีอาการเจ็บหน้าอกหายใจไม่ออก ปวดท้อง และน้ำหนักลดลง 13 กก.

ด้านใบปอ มีความรู้สึกร้อนบริเวณหลอดอาหาร อ่อนเพลีย ความดันตก นอนไม่หลับ และน้ำหนักลดลงไป 6 กก. 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า เวลานี้มีผู้ต้องหาคดีการเมืองที่ไม่ได้สิทธิประกันตัวทั้งหมด 22 ราย โดยมีทั้งกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี ม.112 และกลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีอันเกี่ยวข้องกับการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง

ในส่วนของผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินดคีเกี่ยวกับการชุมนุมที่แยกดินแดงนั้น ศูนย์ทนายเปิดเผยว่า หลายคนมีภาวะเครียดสภาพการคุมขังในเรือนจำ และการไม่ได้รับสิทธิประกันตัวส่งผลต่อสภาพจิตใจ เช่น พลพล ตัดสินใจฆ่าตัวตายโดยการกินยาแก้ปวดเกินขนาดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 65 ซึ่งได้เข้ารับการรักษาพยาบาลแล้ว แต่เขามีอาการไตอักเสบ ทำให้ต้องรักษาตัวต่อไปอีก 7-10 วัน 

ขณะที่ ใบบุญ และพุฒิพงษ์ กรีดแขนประท้วงการไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ส่วนธรีวิทย์อดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. และติดโควิดภายในเรือนจำ โดยทนายความไม่สามารถเยี่ยมได้ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความยังเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์กิตติคุณ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ศาสตราจารย์ ภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ถึงประธาน และรองประธานศาลอาญากรุงเทพใต้ ใจความระบุว่า

ท่านกงจักร์ โพธิ์พร้อม

ประธาน ศาลอาญากรุงเทพใต้

ท่านมนัส ภักดิ์ภูวดล

รองประธาน ศาลอาญากรุงเทพใต้

เรียนท่านผู้พิพากษาที่เคารพ

ในฐานะของนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และในฐานะของมนุษย์ที่ห่วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเพื่อนมนุษย์ เราเขียนถึงท่านเพราะเป็นห่วงการที่ศาลปฏิเสธการขอประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำอีกของนางสาวใบปอ และนางสาวบุ้ง เนติพร ที่ถูกกักขังไว้ในช่วงก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มต้นที่ทัณฑสถานหญิงกลางกรุงเทพฯ ทั้งสองคนกูกกักขังตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 และเริ่มอดอาหารประท้วงการปฏิเสธการประกันตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 การจับ การกักขัง และการปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวในกรณีของบุคคลสองคนนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์การปราบปรามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย และเนื่องจากสุขภาพของทั้งสองคนกำลังทรุดลงเรื่อยๆ เราขอเรียกร้องให้ศาลให้การประกันตัวบุคคลทั้งสองโดยทันที โดยยึดถือตามหลักการความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่ถูกระบุไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 และสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีรัฐ

การจับกุมและดำเนินคดีต่อนางสาวบุ้ง และนางสาวใบปอ สะท้อนถึงแนวโน้มที่น่าวิตกของการปราบปรามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีคนอย่างน้อย 202 คนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2565

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวบุ้ง นางสาวใบปอ และนักเคลื่อนไหวอีกสี่ท่านทำโพลล์ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน มีโปสเตอร์และสติ๊กเกอร์เชิญชวนคนที่เดินผ่านไปมาให้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อคำถามที่ว่า “คุณคิดว่า ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่” นักเคลื่อนไหว 6 คน และนักข่าวอิสระอีก 2 คน ที่ไลฟ์กิจกรรมทำโพลล์ได้ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่าละเมิดประมวลกฎหมายอาญา 4 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 368, 136, 116 และ 112 แม้กระทั่งว่าการทำโพลล์ที่เป็นการแสดงออกอย่างสันติ อันถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) มาตรา 19 ด้วยความเคารพต่อศาล เราขอทักท้วงว่าประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามในฐานะภาคีรัฐ

นางสาวบุ้ง อายุ 26 ปี เป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษ และมีภาระดูแลคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวอยู่ นางสาวใบปอ อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษาปีหนึ่งที่วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การถูกกักขังทำให้นางสาวใบปอต้องพลาดงานการเรียนที่ต้องทำในฐานะนักศึกษา ด้วยความเคารพต่อศาล เราขอทักท้วงว่า การเข้าถึงการศึกษาเป็นสิทธิที่ถูกระบุไว้ใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights, ICESCR) มาตรา 13 และประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามในฐานะภาคีรัฐ

ในการขอประกันตัวครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ทนายร้องขอประกันโดยอ้างหลักการทั้งทางด้านกฎหมายและด้านมนุษยธรรม หากไม่ได้ประกันตัว การเตรียมการต่อสู้คดีในระหว่างที่ถูกกักขังอยู่นั้น ยากที่จะเตรียมการได้อย่างเต็มที่ และหากยิ่งอดอาหารเป็นเวลานาน สุขภาพของนางสาวใบปอ และนางสาวบุ้ง ก็จะยิ่งทรุดลงไปอีก ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 และศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้เปลี่ยนคำสั่งในวันที่ 27 มิถุนายน 2565 ศาลตัดสินใจปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวแม้ว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ขัดขวางการขอประกันตัวครั้งนี้ก็ตาม

ทั้งนางสาวบุ้งและนางสาวใบปอมีอาการอ่อนเพลียและปวดท้องอย่างรุนแรงจากการที่อดอาหารเป็นเวลานาน ปัจจุบันนี้น้ำหนักของนางสาวบุ้ง ลดลง 15 กิโลกรัม และ น้ำหนักของนางสาวใบปอ ลดลง 5 กิโลกรัม นางสาวบุ้งเริ่มอาเจียนเป็นระยะๆ เธอถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์กลางดึกของวันที่ 28 มิถุนายน เพราะอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ วันที่ 29 มิถุนายน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าแพทย์ให้น้ำเกลือ ยา และวิตามินทางหลอดเลือด เพื่อรักษาอาการที่เกิดจากการอดอาหาร

ด้วยความเคารพต่อศาล เราขอทักท้วงว่าทุกคนต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด การปฏิเสธไม่ให้การประกันตัวซ้ำแล้วซ้ำอีกในกรณี นางสาวใบปอ นางสาวบุ้ง และอีกหลายคนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในขณะที่คนที่ถูกกล่าวหาในคดีอื่น ๆ เช่นคดีความที่ก่อความรุนแรง กลับได้รับการประกันตัว คงสะท้อนว่ามี 2 มาตรฐานที่ทำให้คนที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 112 ไม่มีสิทธิเท่าคนอื่น ด้วยความเคารพต่อศาล เราขอทักท้วงว่า ICCPR มาตรา 9(3) ระบุได้ว่า มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี

สุดท้ายนี้ เราขอเรียกร้องให้ศาลยึดถือหลักการสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ อันประกอบด้วยการทำตามทั้ง ICCPR และ ICESCR ถ้าหากท่านไม่ยึดถือหลักการนี้ ในระยะสั้น ชีวิตของนางสาวบุ้ง นางสาวใบปอ และคนอื่นๆ อีกหลายคนที่กำลังถูกข่มเหงรังแกจะถูกทำร้าย เนื่องจากกล้าที่จะใช้สิทธิเสรีภาพ และในระยะยาวการพัฒนาส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเองก็จะถูกทำร้ายตามไปด้วย

ด้วยความเคารพอย่างสูงและความขอบพระคุณ