วันที่ 22 มี.ค. จาตุรนต์ ฉายแสง กรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก เตือนให้ช่วยกันดูแลตรวจสอบไม่ให้รัฐบาลรักษาการใช้อำนาจเต็ม เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นอย่างที่เคยทำมาแล้วในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยระบุว่า
รัฐบาลรักษาการ นายกฯรักษาการ
ที่สื่อมวลชน นักวิชาการหรือประชาชนอีกจำนวนมากเรียกรัฐบาลหลังยุบสภาว่า “รัฐบาลรักษาการ” เรียกนายกฯว่า “นายกฯรักษาการ” ความจริงแล้วก็ไม่ใช่ความเข้าใจผิดหรือเรียกผิดหรอก แต่เป็นการเรียกด้วยคอนเซ็ปท์คนละอย่างกับที่รัฐบาลอธิบายอยู่เท่านั้นเอง
ตามรัฐธรรมนูญ เมื่อยุบสภา ความเป็นครม.ก็สิ้นสุดลง แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ไม่ได้ใช้คำว่ารักษาการ เพราะฉะนั้นในหนังสือราชการทั้งหลายจึงไม่ใช้คำว่ารักษาการ คำว่ารักษาการหรือรักษาราชการใช้เวลานายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ ได้แล้วรองนายกฯรักษาการแทน กรณีรัฐมนตรีว่าการไม่อยู่ก็เช่นกัน
แต่กรณียุบสภา ในทางสากลมีศัพท์คำหนึ่งเป็นภาษาอังกฤษว่า Care taker government หรือรัฐบาลรักษาการนั่นเอง มีคำอธิบายว่ารัฐบาลรักษาการนี้ทำอะไรได้บ้างและไม่ควรทำอะไรบ้างเช่นการออกกฎหมาย การใช้งบประมาณเป็นต้น
ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันหรือฉบับก่อนๆ ก็นำคอนเซ็ปท์นี้มาใช้ จึงกำหนดข้อห้ามต่างๆสำหรับครม. นายกฯและรัฐมนตรีหลังยุบสภาแล้วไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญเองและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพียงแต่ไม่เรียกว่ารัฐบาลรักษาการเท่านั้น
ปัญหาขณะนี้จึงไม่อยู่ที่จะเรียกรัฐบาลปัจจุบันว่าอะไร แต่อยู่ที่ทำอย่างไรจะคอยตรวจสอบควบคุมไม่ให้ ครม.ปัจจุบันใช้อำนาจหน้าที่เอาเปรียบพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลอยู่ ตามหลักการที่ว่ารัฐบาลหลังยุบสภาควรเป็นเพียงแค่รัฐบาลรักษาการ ไม่ใช่รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มอย่างรัฐบาลปรกติ
ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เนติบริกรได้ออกแบบรัฐธรรมนูญไว้ ให้ครม.ขณะนั้นไม่พ้นจาการเป็นครม.และมีอำนาจเต็มทุกประการ คือไม่ได้เป็น ครม.รักษาการ รัฐบาลขณะนั้นจึงใช้งบประมาณมหาศาลหาเสียงให้กับพรรคการเมืองที่เป็นพวกเดียวกันได้อย่างสนุกสนาน รวมทั้งใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ตามอำเภอใจ ทำให้ข้าราชการเกรงกลัวและวางตัวเข้าข้างผู้มีอำนาจในขณะนั้น
ในการเลือกตั้งครั้งนี้กติกาไม่เหมือนเดิม จึงต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้พลเอกประยุทธ์กับพวกทำอะไรเมือนเดิมอีก