หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมเปิดตัว 'ไทยนิยมยั่งยืน' ผ่านช่องทาง ในวันที่ 3 เมษายนนี้ เพื่อใช้เป็นพื้นที่สื่อสารและประชาสัมพันธ์โครงการไทยนิยม หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวงบประมาณ 16,474 ล้านบาท เพื่อหว่านงบลงไปในหมู่บ้าน 82,371 แห่ง แบ่งเป็นหมู่บ้านละ 200,000 บาท จนมีเสียงทักท้วงว่า 'ไทยนิยม' ไม่ได้แตกต่างจาก 'ประชานิยม'
หากมองดูการช่วงชิงพื้นที่ทางการเมืองในเฟซบุ๊ก ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลคสช. ยังคงวิ่งตามหลัง เหล่านักการเมืองทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า ที่ใช้พื้นที่บนโซเชียลมีเดียเคลื่อนไหวหรือสื่อสารกับประชาชนมาตลอดระยะเวลาหลายปี พิสูจน์ความสำคัญของพลังโซเชียลมีเดียได้จากรายงานของ 'โธธ โซเชียล' พบว่าประชากรไทยในปี 2560 มีคนไทยใช้งานเฟซบุ๊ก 49 ล้านยูสเซอร์ อินสตาแกรม 14 ล้านยูสเซอร์ ทวิตเตอร์ 12 ล้านยูสเซอร์
แน่นอนว่าเมื่อสนามการเมืองไม่ถูกจำกัดไว้แค่การสื่อสารผ่านสื่อเก่า พื้นที่บนเฟซบุ๊กจึงมีสีสันและมีการนำเสนอผ่านไอเดียในหลายรูปแบบ จนนำไปสู่การสร้างฐานแฟนคลับทั้งขาประจำและขาจร ที่คอยติดตามและแสดงความคิดเห็น บนเฟซบุ๊กของนักการเมืองที่พวกเขาชื่นชม
-เฟซบุ๊ก 'Yingluck Shinawatra' ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีผู้ติดตาม 6,063,692 คน
-เฟซบุ๊ก 'Suthep Thaugsuban' ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีผู้ติดตาม 2,779,274 คน
-เฟซบุ๊ก 'Thaksin Shinawatra' ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีผู้ติดตาม 2,532,696 คน
-เฟซบุ๊ก 'Abhisit Vejjajiva' ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี มีผู้ติดตาม 2,299,872 คน
-เฟซบุ๊ก 'Korn Chatikavanij' ของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีผู้ติดตาม 603,826 คน
-เฟซบุ๊ก 'Chaturon Chaisang' ของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีผู้ติดตาม 240,388 คน
-เฟซบุ๊ก 'Watana Muangsook' ของนายวัฒนา เมืองสุข อดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีผู้ติดตาม 129,827 คน
ในขณะเดียวนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เตรียมโลดแล่นในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ก็มีการใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียขับเคลื่อนเช่นเดียวกัน อาทิ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ล่าสุดมีคนติดตาม 13,000 คน รวมถึง 'พริษฐ์ วัชรสินธุ' หรือ ไอติม หลานอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มีคนติดตาม 8,411 คน
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ปรากฎไม่อาจชี้วัดคุณภาพได้ หากสิ่งที่สื่อสารออกมายังไม่เป็นรูปธรรม เพราะยังคงมีอีกหลายปัจจัยในการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการสื่อสารหรือเคลื่อนไหวในการเมือง แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เปิดที่ใครจะใส่ความคิดอะไรลงไปได้ แต่กำแพงที่ขวางกั้นคือ 'กฎหมาย' ที่พร้อมจะพุ่งชนได้เสมอ หากคำที่ถูกผลิตออกไปไม่ได้สนองหรือตอบโจทย์ผู้มีอำนาจ