นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม นางอัมพวัน วรรณโก ผู้ตรวจราชการฯ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูง และคณะทำงานตรวจโครงข่ายคมนาคม ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของท่าอากาศยานระนอง ตามนโยบาย One Transport ของกระทรวงคมนาคม ให้สามารถรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งให้เพิ่มระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยาน สถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญในจังหวัดระนอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางมายังจังหวัดระนอง
ประชุมทีมงาน One Transport ติดตามโครงข่ายคมนาคมภาคใต้
โดยเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประชุมทีมงาน One Transport เพื่อติดตามโครงการที่สำคัญ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ณ แขวงทางหลวงระนอง โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ นำเสนอข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ต่อที่ประชุม
ทั้งนี้ การประชุมทีมงาน One Transport ติดตามโครงการที่สำคัญ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน สรุปได้ดังนี้
1. เร่งรัดการออกแบบก่อสร้างระบบโลจิสติกส์จากสถานีรถไฟชุมพร เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกจังหวัดระนอง และเพื่อสนับสนุนและเชื่อมต่อ EEC
2. เร่งรัดการก่อสร้างและพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย (Thailand Rivera) อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 ตอน
3. การก่อสร้างรถไฟสายใหม่เส้นทางสุราษฎร์ธานี - ท่านุ่น จังหวัดพังงา ซึ่งดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)
4. เสนอให้ศึกษาความเป็นได้ระบบรางจากสถานีกันตัง ท่าเรือนาเกลือ จังหวัดตรัง ซึ่งขณะนี้พื้นที่ ไม่มีแนวสายทางรถไฟ โดยมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม และความคุ้มค่าในการดำเนินงาน
5. เร่งรัดการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.อยู่ระหว่างขยายขีดความสามารถในการก่อสร้าง ปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร เพื่อรองรับการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น
6. การพัฒนาท่าเรือระนอง โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อรองรับการเป็นท่าเรือระหว่างประเทศหลักของภาคใต้ฝังอันดามัน เชื่อมโยงระบบการขนส่งชายฝ้ง และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ในประเทศ และระหว่างประเทศ
7. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานระนอง และท่าอากาศยานตรัง
8. การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ เพื่อเพิ่มขีอความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากเดิม 6.5 ล้านคนต่อปี เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 5 ล้านคน/ปี และผู้โดยสารภายในประเทศ 7.5 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559
9. การพัฒนาเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองกระบี่ จะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 โครงการก่อสร้างถนนเพื่อการท่องเที่ยวบนเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น
10. การส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ แยกทางหลวงหมายเลข 4 - ด่านสะเดาแห่งที่ 2 เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงประเทศไทยกับมาเลเซีย รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา
11. การแก้ไขปัญหาจราจร ได้แก่ ถนนวงแหวนรองเมืองตรัง (ทางหลวงหมายเลข 419) และถนนสาย จ ผังเมืองรวมเมืองชุมพร จ.ชุมพร
ตรวจเยี่ยมท่าเรือระนอง
นอกจากนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังตรวจเยี่ยมการดำเนินงานท่าเรือระนอง ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญในการขนส่งสินค้าทางทะเลฝั่งทะเลอันดามัน เชื่อมโยงเส้นทางการค้าไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งการพัฒนาท่าเรือระนองให้เต็มศักยภาพเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า ต้องมีการเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าด้วยระบบราง
ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาความเหมาะสมของเส้นทางรถไฟชุมพร - ท่าเรือน้ำลึกระนอง และดำเนินการออกแบบเเล้วเสร็จ เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางรางของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน และส่งเสริมการท่องเที่ยว 2 ฝั่งทะเล เพื่อเตรียมเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ. ชุมพร
กรมเจ้าท่า ติดตามการใช้ประโยชน์ท่าเรือคลองต้นสน จ.ระนอง
ด้าน นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (ด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ) พร้อมด้วยนายณัฐชัย พลกล้า (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการวางแผนการพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ) นายสมภพ ปัญญาไวย์ (ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 )นาวาตรีอภิชัย คล้ายแก้ว (ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาระนอง) นายภาณุ ภาศักดี (หัวหน้ากลุ่มวิศวกรรมทางทะเล)นายสมเกียรติ เขียวย้อย (ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่3) ร่วมตรวจติดตามการใช้ประโยชน์ท่าเรือคลองต้นสน
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้รับฟังปัญหาการใช้ประโยชน์ของร่องน้ำ ประกอบกับท่าเรือคลองต้นสนเป็นท่าเรือท่องเที่ยวที่สามารถข้ามไปยังเกาะพยามได้ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและนำรายได้มาสู่จังหวัดระนองและประเทศอย่างมากมาย ซึ่งปัจจุบันเทศบาลตำบลหงาวรับเป็นผู้บริหารชั่วคราว โดยกรมเจ้าท่าจะเร่งรัดดำเนินการหาผู้บริหารอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด รวมถึงดำเนินการหาผู้บริหารท่าเรือเกาะพยามและท่าเรือระนองเกาะสองในคราวเดียวกันนี้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :