ไม่พบผลการค้นหา
เหมือนพายุลูกใหญ่พัดเข้าปกคลุมหอศิลปกรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังจากเมื่อประมาณ 5 เดือนก่อน พายุลูกแรกจากกรุงเทพมหานครถล่มหนัก เพราะภาครัฐต้องการทวงคืนหอศิลปกรุงเทพฯ ไปบริหารเอง จนสร้างความขุ่นเคืองต่อแวดวงคนรักศิลปะถ้วนหน้า

เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (26 ก.ย. 2561) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ ร่วมด้วยพนักงานหอศิลปกรุงเทพฯ มากกว่า 40 คน และเครือข่ายศิลปินหลากสาขาจากทั่วประเทศ ต่างสวมชุดดำออกมาแสดงพลัง พร้อมจัดแถลงข่าวสถานการณ์จริงเกี่ยวกับการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งกำลังสร้างความงุนงงสงสัยต่อประชาชนจำนวนมาก

ท่ามกลางความขุ่นเคืองของคนแวดวงศิลปะ ต้องเล่าย้อนต้นเรื่องกลับไปในเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งประชุมสภากรุงเทพมหานครออกมาท้วงติงประเด็นการอนุมัติงบประมาณอุดหนุนแก่หอศิลปกรุงเทพฯ ช่วง 7 ปีก่อน โดยระบุเหตุผลว่า การอนุมัติงบประมาณขัดต่อสัญญาโอนสิทธิการบริหารข้อ 8 จึงแจ้งต่อกรุงเทพมหานครให้รีบดำเนินการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของสัญญา ทว่าผ่านเวลามานาน 13 เดือนแล้ว กลับปราศจากความคืบหน้า


61.jpg62.jpg

ทั้งที่ มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ รับสิทธิ์การบริหารอาคารหอศิลปกรุงเทพฯ จากกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2554 สอดคล้องกับการลงนามปฏิญญาเรื่องข้อตกลงความร่วมมือทางด้านศิลปวัฒนธรรม ที่กรุงเทพมหานครทำกับพันธมิตรด้านศิลปวัฒนธรรม ซึ่งสาระส่วนสำคัญคือ “จะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน สร้างสรรค์องค์ความรู้แขนงต่างๆ ของศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งเสนอแนะ ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่มีศักยภาพ ตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนงบประมาณ ทุนการศึกษาวิจัย การดําเนินงาน และพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมของเมือง”

ส่วนความฉงนสงสัยเนื้อความตามสัญญาข้อ 8 ผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ เปิดเอกสารแล้วอ่านรายละเอียดให้ฟังว่า “ตามสัญญาข้อ 8 บรรดาค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาษีใดๆ ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการหอศิลปกรุงเทพฯ ตกเป็นความรับผิดชอบของผู้รับสิทธิ์ และผู้รับสิทธิ์ต้องชำระค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม หรือค่าภาษีให้ทันตามเวลา”

แน่นอนว่า หากยึดตามสัญญาข้อ 8 ทางสภากรุงเทพมหานครคงไม่สามารถพิจารณางบประมาณอุดหนุนหอศิลปกรุงเทพฯ ได้ทุกกรณี นั่นกลายเป็นเหตุผลหลักของการเดินหน้าแก้สัญญาดังกล่าว โดยทางมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ยื่นเรื่องขอแก้สัญญามาตลอด แต่เหมือนบางอย่างติดขัดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งคณะกรรการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ชุดเก่าหมดวาระไปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมท่านผู้ว่าฯ อัศวินได้ให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เร่งกระบวนการสรรหากรรมการมูลนิธิฯ ชุดใหม่ ซึ่งท่านบอกด้วยว่าควรเสร็จภายในหนึ่งเดือน แต่ผ่านไปสองเดือนแล้ว กลับไม่ได้เริ่มแก้ปัญหา ไม่ได้เริ่มแก้สัญญา” ผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ กล่าว

ที่ผ่านมา ระหว่างการเดินหน้าแก้สัญญา และสรรหาคณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ชุดใหม่ กรุงเทพมหานครอนุมัติงบประมาณอุดหนุน 40 ล้านบาท ให้กับหอศิลปกรุงเทพฯ โดยเป็นงบประมาณที่ขึ้นกับสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว

ทว่าตลอดระยะเวลาการจัดสรรงบประมาณปี 2561 ทางสํานักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ไม่เบิกจ่ายงบประมาณกับหอศิลปกรุงเทพฯ ตามแผนงาน ทําให้การบริหารงานอาคาร และกิจกรรมของหอศิลปกรุงเทพฯ เริ่มประสบปัญหา แต่หอศิลปกรุงเทพฯ ยังคงเปิดให้บริการ และดําเนินกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมตามปกติ โดยทางสํานักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว บริหารจัดการจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซ้ำร้ายหลังจากผ่านไป 9 เดือน สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มยุติการจ่ายเงินแก่หอศิลปกรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ตามความจริงนอกเหนือจากค่าน้ำค่าไฟ หอศิลปกรุงเทพฯ ต้องแบกรับภาระรายจ่ายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก


63.jpgUntitled-1.jpg

สิ่งสำคัญคือ กรณีดังกล่าวส่งผลให้งบประมาณปีหน้า ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2561 หอศิลปกรุงเทพฯ ไม่ได้รับงบประมาณจากภาครัฐเลย ซึ่งนับเป็นวิกฤตหนักตั้งแต่ก่อตั้งหอศิลปกรุงเทพฯ มา 10 ปี ขณะเดียวกันผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ หยิบเอกสารการแจ้งหนี้ของการประปานครหลวงมาแสดงต่อหน้าสื่อมวลชน โดยรายละเอียดบนแผนกระดาษระบุว่าทางการประปาแจ้งต่อสำนักงานวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ให้ชำระเงินจำนวน 47,483.67 บาท เป็นรายการค่าน้ำของหอศิลปกรุงเทพฯ ที่ติดค้างมา 2 เดือน และหากละเลยจะระงับการจ่ายน้ำในวันที่ 26 กันยายน 2561

“เบื้องต้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของหอศิลปกรุงเทพฯ คือการพิจารณาปรับลดเวลาทำการวันละ 2 ชั่วโมง จากเดิมเวลา 10.00- 21.00 น. เปลี่ยนเป็น 11.00-20.00 น. จนกว่าปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน และความจริงอีกอย่างหนึ่งคือ แม้ทางการไฟฟ้าไม่ได้ส่งใบแจ้งหนี้มา แต่หอศิลปกรุงเทพฯ แบกรับรายจ่ายค่าไฟฟ้าอยู่ประมาณเดือนละ 600,000 บาท จึงต้องการเปิดรับเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป

“ทุกคนอาจคิดทำนองเดียวกันว่า หอศิลปกรุงเทพฯ คงสถานการณ์ปกติ ยังคงเดินหน้านิทรรศการ ให้บริการห้องสมุด อินเตอร์เน็ตฟรี แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ พนักงานจำนวน 40 กว่าคนของหอศิลปกรุงเทพฯ พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้ทุกอย่างดูเหมือนปกติ ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่ปกติ” ผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ กล่าวทิ้งท้าย