ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางศิลปินมากหน้าหลายตาที่ต่างสวมเสื้อผ้าสีดำมารวมตัวกัน ณ หอศิลปกรุงเทพฯ เพื่อประท้วงการทำงานของรัฐบาล กรณีงบประมาณสนับสนุนหอศิลปกรุงเทพฯ ประจำปี 2561-2562 ผู้หญิงผมบลอนด์สะดุดตาคนหนึ่ง ที่นั่งจดจ่อกับการแถลงข่าวอยู่บริเวณแถวหน้าสุดก็คือ ‘ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน’ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2557 หรือผู้รับบท ‘อาม่า’ ในละคร ‘เลือดข้นคนจาง’ ซึ่งเดินทางตรงจากวิกหัวหินสู่กลางเมืองกรุงเทพฯ ด้วยความเป็นห่วง พร้อมกับต้องการรับฟังข้อเท็จจริงด้วยสองหูของตัวเอง

หลังจากกล่าวคำทักทาย ครูเล็กบอกเหตุผลหลักของการเดินทางมาจากวิกหัวหินกับทีมข่าว ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ว่ามาด้วยความเป็นห่วงระคนกังวลต่อกรณีหอศิลปกรุงเทพฯ ถูกตัดงบประมาณจนต้องประการแนวทางรัดเข็มขัด จึงอยากมาฟังความจริงเบื้องลึกด้วยหูของตนเอง

“เราเห็นศูนย์ศิลปฯ มาตั้งแต่ก่อสร้าง และส่วนตัวก็พาลูกศิษย์ลูกหามาที่นี่บ่อยๆ เลยรู้สึกเป็นห่วงมาก บวกกับห่วงป้อมด้วย (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินัน���น์ ผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ) เพราะรู้จักกันมานาน เขาเป็นนักแสดงรุ่นน้องที่เริ่มต้นชีวิตกับภัทราวดีเธียเตอร์”

Untitled-1.jpgUntitled-11.jpg

จากประสบการณ์การทุ่มเททำกับภัทราวดีเธียเตอร์มามากกว่า 40 ปี ครูเล็กสะท้อนมุมมองต่อการพัฒนาศูนย์ศิลปฯ ในประเทศไทยให้ฟังว่า ตัวเธอผ่าฟันกับปัญหาการบริหารจัดการมาแล้วหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากประเทศไทยไม่ค่อยสนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม จนกระทั่งเธอพบสัจธรรมว่า ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ ตลอดชีวิตการทำงานครูเล็กเลือกยิ้มสู้กับอุปสรรค แม้ต้องปากกันตีนถีบ เพราะค้นพบความสุขจากการได้เห็นเด็กๆ รวมถึงคนรอบข้างเจริญเติบโตด้านชีวิต และการทำงานในทิศทางที่ดี

“ทุกครั้งที่เกิดปัญหามันทำให้ฉลาดขึ้น เก่งขึ้น และเห็นสัจธรรมว่า ‘ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน’ ไปพึ่งพาใครไม่ได้หรอก ต้องรู้จักพึ่งตัวเอง หอศิลปกรุงเทพฯ ทำอะไรได้หลายอย่างมาก เมื่อเทียบกับศูนย์ศิลปฯ ของดิฉัน และในฐานะประชาชน ดิฉันเสียงภาษีก็เยอะ การทำศูนย์ศิลปฯ เล็กๆ รัฐบาลไม่เคยให้งบสนับสนุน ทำมา 40 กว่าปีสตางค์ดิฉันทั้งนั้น ดิฉันก็พยายามหาสตางค์มาทำจนได้ เพราะจุดประสงค์ของชีวิตคือ ต้องการทำอะไรให้คนใกล้ชิด หรือคนรอบๆ ตัวเข้าใจเรื่องความดีงาม สร้างศิลปินคนใหม่ๆ ที่มีความสามารถ” ครูเล็กกล่าว

หลังจากนั่งฟังการแถลงข่าว 'การรัดเข็มขัดหอศิลปกรุงเทพฯ' จนจบ ครูเล็กแนะนำด้วยว่า อยากให้ทุกคนลดตัวตนลง แล้วลองเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นดูอีกสักครั้ง โดยเฉพาะการเป็นผู้ใหญ่ควรฟังเด็กด้วยเหตุผลบ้าง ลองหันหน้าเข้าหากัน และร่วมมือกันแก้ปัญหา

“เช่นเดียวกันนะคะ ราชการต้องฟังเรา เราต้องฟังราชการ และเห็นหัวใจซึ่งกันและกัน อย่าเปรียบเทียบ ลองมาคุยกัน ทำอย่างไรได้บ้าง เจอกันตรงกลางอย่างไร เพื่อความเจริญของบ้านเมือง เพื่อความเจริญของเด็กๆ ของเรา ถ้าคิดแบบนั้นได้จริงๆ แล้วทุกอย่างง่ายมากเลย แต่ถ้าเป็นแบบตัวกูของกูเมื่อไหร่ ก็พูกกันไปไม่มีทางจบ

“ถ้าเราทำงานแล้วมันมีประโยชน์กับคนอื่นๆ เขาจะรักเรา เขาจะเห็นพื้นที่มีคุณค่ากับเขา แล้วเขาจะช่วยเรา คนละเล็กละน้อย หรืออย่างน้อยก็ช่วยมาเที่ยว มาเป็นกำลังใจ ดังนั้น ถ้าใครที่รักหอศิลปกรุงเทพฯ และคิดว่าเวทีตรงนี้มีประโยชน์ต่อลูกหลาน ต่อตัวเราเอง ก็มาเที่ยวที่นี่ มาซื้อตั๋วละคร มาดูละคร มากินข้าว คือมาสนับสนุนให้พื้นที่นี้อยู่ต่อไปได้” ครูเล็กเชิญชวน

ล่าสุด ทางผู้บริหารหอศิลปกรุงเทพฯ ตัดสินใจตั้งกล่องรับบริจาคเงืนช่วยเหลือหอศิลปฯ ณ บริเวณเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ชั้น 5 หรือสามารถโอนเงินเข้าบัญชีมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็กำลังพิจารณาปรับเวลาบริการจาก 10:00-21.00 น. เป็น 11:00-20:00 น. และหยุดวันจันทร์เช่นเคย

สุดท้ายก่อนจากกัน ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ถามย้ำกับครูเล็กว่า อยากบอกอะไรกับรัฐบาลบ้าง แล้วครูเล็กก็ตอบกลับมาว่า อยากฝากให้ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี ช่วยหันมาเหลียวแลวงการศิลปะ

“ฝากถึงลุงตู่ดีกว่า ดิฉันชื่นชมท่าน อยากให้ท่านหันมามองงานศิลปะบ้าง งานศิลปะสร้างมนุษย์ สร้างปราชญ์ของประเทศ สร้างนักธุรกิจดีๆ ต้องบอกว่า แกรมมี เวิร์คพอยต์ หรืออะไรต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่มักเป็นเด็กตามโรงละคร

“ศิลปะไม่ได้สร้างแค่สิ่งเพ้อฝัน แต่สร้างคนให้รู้จักสร้างสรรค์ แล้วพวกเขาก็จะไปสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างภาษีมากมายให้กับรัฐบาล ซึ่งบางคนมักมองว่า ศิลปินไม่ได้สร้างอะไร จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะหลายๆ คนก็เป็นนักธุรกิจ ลองมองแบบนี้บ้างว่าเราสร้างบ้านสร้างเมืองนะ เราไม่ได้มาเพ้อฝั่นเลอะเทอะ ก็มีบางคนเลอะเทอะ แต่เขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราคิด ครีเอท แล้วเอาตรงนี้ไปทำมาหากิน” ครูเล็กทิ้งท้าย