ไม่พบผลการค้นหา
ครูบาบุญชุ่ม ทำพิธีแผ่เมตตาหน้าถ้ำหลวง ให้ทีมหมูป่าได้ออกจากถ้ำอย่างปลอดภัย ด้านทีมแพทย์พยาบาล เตรียมพร้อมให้การรักษาพยาบาลทีมหมูป่าอะคาเดมี ในถ้ำมีแพทย์ดูแลฟื้นฟู อนุบาล นอกถ้ำเตรียมแพทย์ 13 ทีมประกบ

ที่ด้านหน้าถ้ำหลวง ขุนน้ำ-นางนอน พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร หรือ ครูบาบุญชุ่ม พร้อมกับผู้ปกครองของทีมหมูป่า 13 ชีวิต ตามเข้าไปในถ้ำหลวง ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเข้มงวด โดยสื่อมวลชนสังเกตการณ์อยู่ด้านนอก ซึ่งครูบาบุญชุ่ม เดินทางมาเงียบๆ เพื่อเข้ามาทำพิธีแผ่เมตตาอธิษฐานจิตที่หน้าถ้ำ เพื่อให้ทั้ง 13 คน ได้ออกมาอย่างปลอดภัย พร้อมนำผ้าไตรจีวร 13 ผืน เท่ากับจำนวนคน และยังได้นำกรวดน้ำและสั่นกระดิ่ง ตีระฆัง พร้อมเป่าสังข์ ทำพิธีครบทุกทิศทาง 

ทั้งนี้ เมื่อเสร็จพิธีครูบาบุญชุ่ม ได้เดินทางกลับทันที ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 หลังจากก่อนหน้านี้ได้เดินทางมาทำพิธีเปิดทางถ้ำ 2 รอบ เมื่อวันที่ 29 และ 30 มิถุนายน และในขณะนั้นบอกด้วยว่าเด็กๆ ปลอดภัย อีก 2-3 วันจะพบตัว จนกระทั่งนักประดาน้ำในถ้ำชาวอังกฤษไปพบกับทั้ง 13 ชีวิต ในคืนวันที่ 2 ก.ค. 2561 ที่บริเวณเนินนมสาว เลยหาดพัทยาไป 400 เมตร

ครูบาบุญชุ่ม-ถ้ำหลวง-หมูป่าอะคาเดมี

เตรียม 3 ขั้นตอนรักษา เมื่อ 'ทีมหมูป่าออกจากถ้ำ'

ด้าน พล.ต. วุฒิชัย อิศระ แพทย์ใหญ่ กองทัพภาคที่ 3 หัวหน้าทีมโรงพยาบาลสนาม กล่าวถึงการเตรียมการด้านการรักษาพยาบาลทีมหมูป่าอะคาเดมีและโค้ช ที่พลัดหลงในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ว่าคณะทำงานประกอบด้วย หน่วยแพทย์กองทัพภาคที่ 3 ทั้ง 10 โรงพยาบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข โดยกระบวนการรักษามี 3 ขั้นตอน 

ขั้นแรก เป็นขั้นเตรียมการ มีการหาข้อมูลความเจ็บป่วยของทั้ง 13 คน ประเมินจากน้ำหนัก อายุ โรคประจำตัว และปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคลที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วย 

ขั้นที่สอง การวางแผนวิเคราะห์เหตุที่จะเกิด คือ การขาดสารอาหาร ซึ่งแพทย์ได้เตรียมสารอาหารสำหรับบำรุงร่างกายให้แข็งแรงก่อนนำออกมา เบื้องต้นเมื่อหน่วยค้นหาพบและให้การรักษาพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตแล้ว ได้มีนักประดาน้ำคือ พันโทนายแพทย์ภาคย์ โลหารชุน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ จบหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ ซีล ทำการประเมิน วางแผนเคลื่อนย้ายมายังโรงพยาบาลสนาม  

AP-ถ้ำหลวง-ทีมหมูป่า-เชียงราย-รถฉุกเฉิน-รถพยาบาล-ตำรวจ.jpg

สำหรับเส้นทางเคลื่อนย้าย จะจัดทีมแพทย์ 13 ทีม ในหนึ่งทีมประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม ด้านภาวะฉุกเฉิน พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล พลเปลขนย้ายผู้ป่วยจากปากถ้ำมาสู่รถพยาบาล เมื่อขึ้นรถจะมีแพทย์คนที่สองมาดำเนินการตรวจร่างกาย เพื่อประเมินว่าจะให้การรักษาอย่างไร โดยมีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อม ณ จุดรับผู้ป่วย 

สิ่งสำคัญคือต้องให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ให้สวมแว่นตาดำ เนื่องจากเด็กอยู่ในที่มืดเป็นเวลานาน เมื่อออกมาสู่ที่มีแสงสว่าง รูม่านตาจะไม่ทนต่อการรับแสงจ้าชั่วคราว จากนั้นจะนำส่งขึ้นรถ 13 คน ใช้รถพยาบาล 13 คัน แต่ละคันจะมีแพทย์ดูแลคันละ 1 คน พาไปที่โรงพยาบาลสนาม ณ จุดคัดแยก มีแพทย์ พยาบาลดำเนินการคัดแยก 3 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก สีแดง ขั้นวิกฤติ จำเป็นต้องรักษาอย่างเร่งด่วน สีเหลือง บาดเจ็บเล็กน้อย สีเขียว ไม่บาดเจ็บ 

หลังจากประเมิน จะรักษาพยาบาลอีกครั้ง เปลี่ยนเสื้อผ้าและใส่อุปกรณ์ป้องกันตามมาตรฐานการรักษาสากล เพื่อให้เด็กมีร่างกายพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายต่อไป โดยจัดทีมแพทย์คันละคนประกบตัวต่อตัวเพื่อนำส่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทั้งนี้ต้องวิเคราะห์จากสภาพอากาศว่าจะสามารถนำส่งทางอากาศยาน หรือรถพยาบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกาย อากาศ และเวลา 

AP-ถ้ำหลวง-เชียงราย-ทีมหมูป่า-เด็กติดถ้ำ-แพทย์ทหาร-ร.พ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวร.jpg

(พล.ต. วุฒิชัย อิศระ แพทย์ใหญ่ กองทัพภาคที่ 3 หัวหน้าทีมโรงพยาบาลสนาม)

AP-ถ้ำหลวง-ทีมหมูป่า-เชียงราย-รถฉุกเฉิน-รถพยาบาล-แพทย์.jpg

ขั้นตอนสุดท้าย เมื่อถึงโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทีมแพทย์จะตรวจรักษาร่างกายอย่างละเอียด และให้การรักษาจนกว่าร่างกายจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ข่าวเกี่ยวข้อง :