นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย กล่าวถึงความคืบหน้ากฏหมายท้องถิ่น 6 ฉบับว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดยจะแล้วเสร็จในปีนี้ เนื่องจากฉบับที่ยาวมากฉบับที่ 1 เป็นกฏหมายเลือกตั้ง ส่วนฉบับที่ 2-6 เป็นกฏหมายเล็กๆ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการทั้งหมดนี้แยกออกเป็น 3 คณะ โดยคณะกรรมาธิการคณะที่ 1 ดูฉบับที่ 1 เพราะมีความยาวกว่า 70 มาตรา คณะกรรมาธิการคณะที่ 2 ดูเรื่องขององค์การบริหารส่วนจังหวัด / องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ส่วนกรรมาธิการชุดสุดท้ายดูเฉพาะเรื่องของกรุงเทพมหานครและพัทยา ซึ่งแต่ละฉบับมีประมาณ 10 มาตรา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จทันในปลายปีนี้และเมื่อแล้วเสร็จจะต้องบวกเวลาทูลเกล้าฯ ถวายต่อไปอีก
ส่วนกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 250 คน นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ คสช.ยังไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือก ส.ว. เนื่องจาก ส.ว.มี 3 ประเภท ซึ่งประเภทแรก 6 คน นั้น ได้มาโดยตำแหน่งไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว ส่วนประเภทที่สอง ส.ว.ที่มาจากสาขาอาชีพต่างๆ 50 คน ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามาดำเนินการ จะใช้เวลาไปจนถึงประมาณวันที่ 16 ธ.ค.นี้ จะมีการรับสมัครและหลังจากนั้นก็จะให้แต่ละอาชีพเลือกตั้งกันเองจากระดับอำเภอ ไปสู่ระดับจังหวัด และไปสู่ระดับประเทศ 200 คน ให้เหลือ 50 คน ต่อจากนั้นจะส่งรายชื่อให้ คสช.ประมาณวันที่ 2 ม.ค. 2562 ช้าสุดไม่เกินวันที่ 9 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็น 15 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส. 24 ก.พ. 2562
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับประเภทที่สาม คือ ส่วนที่ คสช.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 9-12 คนนั้น คาดว่าจะดำเนินการเมื่อผลการเลือก ส.ว. 50 คน เสร็จสิ้น เพื่อที่จะสามารถตั้งบุคคลที่ยังขาดไปเติมให้ถูกต้อง มิเช่นนั้นการสรรหาจะเกิดการทับซ้อนทั้งจังหวัดและอาชีพ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะไม่ล่าช้า เพราะจะมีตั้งคณะกรรมการคัดสรรก่อนวันที่ 2 ม.ค. 2562 เชื่อว่ายังมีเวลาในการคัดเลือก ส.ว.ทั้ง 194 คน เพราะการประกาศรายชื่อ ส.ว.นั้น จะเกิดขึ้น 3 วัน ภายหลังการประกาศรายชื่อส.ส. ซึ่งมีระยะเวลาในการประกาศ 1-2 เดือน หลังการเลือกตั้ง เนื่องจากอาจมีการแจกใบเหลืองใบแดงเกิดขึ้น ทั้งนี้ส่วนตัวไม่ทราบเรื่อง คุณสมบัติของคณะกรรมการที่สรรหา รวมถึงไม่ทราบเรื่องการวิ่งเต้นของ สนช. เพื่อให้ได้รับตำแหน่ง ส.ว. ด้วย.
เตือน สมาชิก สนช. โดดสมัครสมาชิกพรรค อาจหลุดเก้าอี้
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ระบุว่า ระหว่างที่ประเทศกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งใน 4 เดือนข้างหน้า สนช.จะยังประชุมพิจารณากฎหมายตามปกติ หากถึงที่สุดแล้ว สนช.ไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ที่เหลือได้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐสภาชุดใหม่พิจารณาต่อไป ส่วนกรณีที่สมาชิก สนช.จะไปร่วมงานการเมืองต้องดูว่าร่วมงานลัษณะใด ถ้าถึงขั้นสมัครสมาชิกพรรคจะมีผลต่อสมาชิกภาพการเป็นสมาชิก สนช. ทันที โดยปัจจุบัน สมาชิก สนช.จะทำหน้าที่ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.จนกว่าจะมีรัฐสภาชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งส.ว.มีลักษณะต้องห้ามบางประการที่ห้าม ส.ว.เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ถ้าไปสมัคร ส.ว.ผ่านทาง กกต. รัฐธรรมนูญไม่มีข้อห้ามใดๆ มีเพียงแต่ข้อห้ามการไปสมัคร ส.ส.เท่านั้น