ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า จากกรณีปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง ที่เกิดขึ้นจากการลักลอบพาดสายโดยไม่ได้รับอนุญาต และการติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน จนทำให้เกิดปัญหาด้านทัศนียภาพ รวมถึงอุบัติเหตุต่างๆ เช่น รถเกี่ยวสายสื่อสารเหนี่ยวรั้งเสาไฟฟ้าล้ม และปัญหาเพลิงไหม้สายสื่อสาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้า และความปลอดภัยของประชาชน ดังนั้น กฟน. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลระบบไฟฟ้า และอุปกรณ์การจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ จึงคิดค้นวิธีแก้ไขปัญหาตลอดมา
ล่าสุด กฟน. ได้ทดสอบใช้เทคโนโลยีใหม่สำเร็จโดยใช้ท่อไมโครดักท์ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าเพียงท่อเดียวเพื่อนำสายสื่อสารร้อยในท่อเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ถนนราชวิถี ฝั่งเหนือ ซอยคู่ (ตั้งแต่แยกถนนขาว - แยกการเรือน) เป็นระยะทาง 730 เมตร มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม ถึง ตุลาคม 2561 เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันยังรองรับสายสื่อสารได้เป็นจำนวนมาก และสามารถควบคุมดูแลสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าได้อย่างเบ็ดเสร็จอีกด้วย
สำหรับโครงการติดตั้งท่อไมโครดักท์ครั้งนี้ เป็นการนำเทคโนโลยี SOCC (Single Overhead Communication Cable) เป็นการประยุกต์ใช้ท่อ Aerial Microduct ที่ใช้รองรับสายสื่อสารลงใต้ดิน นำมาติดตั้งบนเสาไฟฟ้าเพื่อวางสายสื่อสารในอากาศ ร้อยสายด้วยระบบ Air Blown System โดยท่อมีคุณสมบัติพิเศษของสายสะพาน (Messenger Wire) ประเภทพลาสติกชนิด FRP (Fiber/Fiberglass Reinforce Plastic) ที่มีความเหนียวแข็งแรงพิเศษ ไม่ใช้เหล็กหรือลวดสลิง ใช้ติดตั้งยึดติดกับเสาไฟฟ้า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ท่อจะทำให้ขาดออกไม่ส่งผลเหนี่ยวรั้งทำให้เสาไฟฟ้าหักหรือล้มแต่อย่างใด ท่อมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร สามารถรองรับสายสื่อสารใยแก้วนำแสงได้สูงสุดจำนวน 672 core เพียงพอกับสายสื่อสารในปัจจุบันที่มีอยู่ จำนวน 168 core เมื่อร้อยสายสื่อสารใหม่เสร็จสิ้นแล้ว สายสื่อสารเดิมจะถูกรื้อถอนออกไปคงเหลือท่อไมโครดักท์เพียงท่อเดียวบนเสาไฟฟ้า เท่านั้น ในส่วนลำดับขั้นตอนการดำเนินงาน ประกอบด้วย 1.ติดตั้งท่อร้อยสาย (Aerial Microduct) 2.ติดตั้งตู้เชื่อมต่อสาย (Outdoor Cabinet) 3.ติดตั้งสายเคเบิลสื่อสาร (Air Blow Cable) และ 4.หน่วยงานฯ และผู้ประกอบกิจการฯ ติดตั้งเชื่อมต่อสายเข้าระบบเพื่อใช้งาน
สำหรับโครงการติดตั้งท่อไมโครดักท์ในอนาคต กฟน. ได้กำหนดแผนการดำเนินการใน 7 เส้นทาง ได้แก่
1. ถนนสาทร (แยกถนนเจริญกรุง - แยกถนนพระราม 4) ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร
2. ถนนพระราม 4 (แยกถนนราชดำริ - สถานีไฟฟ้าย่อยคลองเตย) ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร
3. ถนนสารสิน (แยกถนนราชดำริ - แยกถนนวิทยุ) ระยะทาง 0.8 กิโลเมตร
4.ถนนชิดลม (แยกถนนเพชรบุรี - แยกถนนเพลินจิต) ระยะทาง 0.7 กิโลเมตร
5.ถนนหลังสวน (แยกถนนเพลินจิต - แยกถนนสารสิน) ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร
6.ถนนเจริญราษฎร์ (แยกถนนพระราม 3 - แยกถนนสาทร) ระยะทาง 3.8 กิโลเมตร
7.ถนนอังรีดูนังต์ (แยกถนนพระราม 1 - แยกถนนพระราม 4) ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร
รวมระยะทางทั้งสิ้น 14.3 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 6 แสนบาท ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กฟน. จะประสานผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือดำเนินการเพื่อให้การแก้ไขปัญหาสายสื่อสารมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยเทคโนโลยีไมโครดักท์ เมื่อโครงการนี้สำเร็จจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาสายสื่อสาร พร้อมทั้งการสร้างระบบไฟฟ้าที่มั่นคง และทัศนียภาพที่สวยงาม เดินหน้าสร้างมหานครแห่งอาเซียน Smart Metro อีกทั้ง กฟน. พร้อมเป็นผู้นำในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อขยายผลการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารรกรุงรังของประเทศต่อไป