7 ก.ค. ที่โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมงานเสวนา “แผนผ่าวิกฤติ พิชิตสงคราม” โดยกล่าวถึงกรณีขั้วรัฐบาลปัจจุบันออกมาแสดงความคิดเห็นว่า หากโหวตเลือก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกแล้วไม่ผ่าน ในการโหวตครั้งถัดไป ควรให้โอกาสพรรคการเมืองอันดับสองเสนอชื่อ ไม่ควรเสนอชื่อเดิมซ้ำ เพราะไม่ใช่การเลือกหัวหน้าห้อง
โดย เศรษฐา ระบุว่า ตนเลยเวลาเลือกหัวหน้าห้องมานานมากแล้ว ตอนนั้นเลือกตั้งแต่เด็กๆ จำไม่ได้ว่าเลือกกันยังไง แต่ตนเชื่อว่าต้องดูที่ตัวเลข ความจริงก็ควรให้โอกาสเขา ในการโหวตครั้งที่สอง ส่วนจะผ่านไปได้ด้วยดีหรือไม่นั้น ก็ได้คุยกับพรรคก้าวไกล รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของ พิธา ก็คาดว่าจะได้ 376 เสียง
ในส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกล จะได้เสียงจากสมาชิกวุฒิสภา ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่บอกจะไม่สนับสนุน จนมีกระแสข่าวว่ามีการซื้อเสียงแลกโหวต เศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ และเรื่องการซื้อเสียงเราไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ควรใช้เหตุผลในการคุยกันมากกว่า เพราะเรื่องนี้สำคัญ และเป็นเรื่องของประเทศชาติ ประชาชนได้พูดแล้วว่า อยากได้ฝ่ายไหนมาจัดตั้งรัฐบาล
ขณะที่เงื่อนไขหลักของ ส.ว. ในประเด็นการแก้ไข ม.112 จะเป็นข้ออ้างในการโหวตเลือก พิธา นั้น เศรษฐา ระบุว่า ส.ว. หลายคนก็ออกมาแสดงความคิดเห็น แต่เชื่อว่าไม่เกิน 10 คน ซึ่ง ส.ว. มีถึง 250 คน ซึ่งอาจมีพลังเงียบ ที่เห็นกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย โดยหวังว่าจะร่วมกันได้ด้วยดี
ส่วนการที่ ส.ว. ส่วนหนึ่งมองว่าแม้แต่ในร่าง MOU ของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังไม่มีเรื่องการแก้ไข ม.112 และเหตุใดพรรคก้าวไกลจึงไม่ลดเพดานเรื่องนี้ลงเพื่อผลักดันให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เศรษฐา กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถามพรรคก้าวไกล เพราะเป็นคนเขียนเรื่องนี้มา เราเป็นพรรคอันดับสอง
เมื่อถามว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนไปด้วยหรือไม่ เศรษฐา กล่าวว่า นี่คือปัญหาที่ตนชี้นำมานานแล้ว นักการเมืองอย่างเราลืมไปว่ามาทำกิจกรรมการเมืองเพื่ออะไร เรามาทำเพื่อช่วยเหลือประชาชน สองเดือนที่มีการเลือกตั้งไป ผลออกมาชัดเจน และ กกต. ก็รับรองแล้ว แต่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรี มันก็ลำบาก จะบริหารจัดการประเทศอย่างไร
“ถ้ามีการเลือกนายกรัฐมนตรีได้เร็วๆ และฟอร์มรัฐบาลได้ภายในต้นเดือนสิงหาคม กว่าจะใช้งบประมาณของปี 2567 ได้ ก็กลางเดือนมีนาคมเลย จึงอยากวิงวอนให้ทุกอย่าง ผ่านไปได้ด้วยดี อย่าเช่นพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มีการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาต่างๆ หากได้เข้าร่วมรัฐบาลจริงตามที่พูดกันไว้ เราจะได้ดำเนินการได้เลย นี่เป็นความหวังที่เรามองไว้” เศรษฐา กล่าว
ส่วนผลกระทบต่อภาคการลงทุนนั้น เศรษฐา ระบุว่าตอนนี้เรายืนอยู่บนปากเหว ตัวเลขส่งออกติดลบ หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90% การลงทุนจากต่างประเทศก็ชะงัก เพราะไม่แน่ใจในทิศทางของรัฐบาลใหม่ และอีกสามเดือนก็จะเข้าสู่ไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว แต่ยังมีปัญหาเรื่องวีซ่า เรื่องโลจิสติกส์ เรื่องการบริหารจัดการสายการบิน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบดูแล
เมื่อถามว่า มีการแบ่งเก้าอี้กระทรวงต่างๆ ในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร เศรษฐา กล่าวว่า ยังอยู่ในการต่อรอง แต่จากที่ได้ยินมาก็น่าจะลงตัวกันหมดแล้ว ส่วนตัวไม่ได้อยู่ในคณะทำงานที่ถกกันเรื่องนี้ ตามความเข้าใจของตนคงเป็นตามที่สื่อเสนอ
เมื่อถามถึงกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางกลับมาประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม เศรษฐา กล่าวว่า ตนไม่ทราบข่าว แต่ ทักษิณ ก็ยืนยันหลายครั้งแล้วว่า หากกลับมาก็เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่กระทบเรื่องของพรรค จะเข้ากระบวนการทางกฎหมาย ส่วนจะทำให้ทิศทางการเมืองเปลี่ยนหรือไม่นั้น เจ้าตัวก็ย้ำหลายครั้งแล้วว่า การกลับมาไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรค และการจัดตั้งรัฐบาล การบริหารจัดการประเทศ ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกัน
“เราเลือกตั้งเสร็จแล้ว จบแล้ว เราก็อยากให้การโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค. นี้ เป็นไปได้ด้วยดี และยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่แตกแถว สนับสนุน พิธา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย” เศรษฐา ระบุ