นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำยม โดยจุดแรกได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำแม่คำปอง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เป็นอ่างเก็บน้ำขบนาดกลางสำหรับการเพาะปลูก การอุปโภค-บริโภค แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน และการบรรเทาอุทกภัย ปัจจุบันมีการบริหารจัดการน้ำโดยกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีความเข้มแข็ง โดยใช้แนวทางการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม จากนั้นในช่วงบ่ายได้เดินทางต่อไปยังโครงการสะเอียบโมเดล เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็กที่กระจายทั่วในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน ณ วัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
นายสมเกียรติ เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแบ่งกรอบการแก้ปัญหาเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการวางรากฐาน โดยกําหนดพื้นที่ที่มีปัญหาท่วม-แล้งซ้ำซาก และพื้นที่พัฒนาพิเศษ เป็นการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ (Area Based) 66 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ 35.09 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เร่งด่วนในการแก้ปัญหา โดย สทนช. ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในระดับลุ่มน้ำที่จำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อวางแผนให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ขณะนี้ สทนช.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน โขงเหนือ ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา ท่าจีน สะแกกรัง และป่าสัก และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ปี โดยมีกำหนดแล้วเสร็จภายในกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 ครั้ง และการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ สทนช. จะนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ โดยจัดลำดับความสำคัญของโครงการตามที่ สทนช.รวบรวมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกลุ่มเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งมีทั้งหมด 19,234 โครงการ อยู่ในลุ่มน้ำยม 1,263 โครงการ
แบ่งเป็น โครงการแก้ไขปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 102 โครงการ โครงการแก้ไขปัญหาด้านน้ำเพื่อการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) จำนวน 952 โครงการ โครงการแก้ไขปัญหาด้านน้ำท่วม จำนวน 138 โครงการ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า จำนวน 69 โครงการ และโครงการด้านบริหารจัดการ จำนวน 2 โครงการ รวมถึงพิจารณาแผนงานโครงการที่ท้องถิ่นเสนอจากการประชุม Workshop ด้วย ทั้งนี้ สทนช. จะนำผลการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่จะนำไปจัดลำดับความสำคัญของโครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำยม และจัดทำแผนหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำยมที่เหมาะสม ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติการและขับเคลื่อนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแก้ไขปัญหาด้านน้ำของลุ่มน้ำยมโดยเร็วต่อไป
“แม้ว่าลุ่มน้ำยมยังคงประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง จากสภาพพื้นที่และอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำยมมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและน้ำท่วมประมาณ 1.4 ล้านไร่ และพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 4 ล้านไร่ แต่ก็มีแนวโน้มความเสียหายที่ลดลงจากอดีต เนื่องจากการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำในระหว่างที่รอโครงการขนาดใหญ่/สำคัญ"
"รัฐบาลได้จัดทำโครงการทุ่งรับน้ำหลากตั้งแต่ปี 2560 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ซึ่งไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการบางระกำโมเดล มีพื้นที่รวมประมาณ 530,000 ไร่ สามารถหน่วงน้ำได้สูงสุด 550 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ขณะเดียวกัน ยังมีแผนการดำเนินการระยะยาวโดยสร้างเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในอนาคตที่สำคัญ ตามแผนแม่บทฯ ที่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จำนวน 1,267 โครงการ
"สามารถบรรเทาพื้นที่ภัยแล้งได้ 220,000 ไร่ และบรรเทาพื้นที่น้ำท่วม 160,000 ไร่ อาทิ โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน โครงการประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร โครงการประตูระบายน้ำท่าแห อ.สามง่าม จ.พิจิตร โครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองฝั่งซ้ายและคลองฝั่งขวาเชื่อมแม่น้ำยม จ.สุโขทัย ซึ่งจังหวัดแพร่ มีแผนงานตามแผนแม่บทที่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง จำนวน 327 โครงการ สามารถบรรเทาพื้นที่ภัยแล้งได้ 62,000 ไร่ และบรรเทาพื้นที่น้ำท่วม 18,000 ไร่” นายสมเกียรติ กล่าว