ไม่พบผลการค้นหา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรเปิดเผยผลการพูดคุยกับชาติตะวันตก 35 ชาติว่า ยุโรปกำลังพิจารณาส่งยานพาหนะหุ้มเกราะ และปืนใหญ่พิสัยไกลให้แก่ยูเครน เพื่อใช้ตอบรับกับการรุกรานของรัสเซีย อย่างไรก็ดี ความช่วยเหลือดังกล่าวยังคงไม่ใช่การส่งรถถังหรืออาวุธสังหารใดๆ เข้าไปตามคำขอของประธานาธิบดียูเครน

เบน วอลเลสซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้ริ่เริ่มการประชุมเพื่อการช่วยเหลือพิเศษแก่ยูเครน อันประกอบไปด้วยชาติตะวันตก 35 ชาติ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า ทางชาติตะวันตกจะส่ง ชาติตะวันตกจะส่ง “ความช่วยเหลือที่รุนแรงขึ้นเข้าไปยังยูเครน” แต่จะยังไม่ใช่การส่งรถถังและอาวุธสังหารเข้าไปตามคำขอของ โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรเปิดเผยว่า การส่งปืนใหญ่พิสัยไกลไปให้ยูเครนนั้น เป็นไปเพื่อความช่วยเหลือให้ยูเครนสามารถใช้อาวุธดังกล่าวในการป้องกันตนเอง เพื่อใช้ยิงต่อต้านเครื่องบินรบของรัสเซีย ที่เข้าทิ้งระเบิดในหลายเมืองของยูเครนรวมถึงมารีอูปอลทางตอนใต้ของประเทศ ที่กำลังถูกรัสเซียล้อมอย่างหนัก

“การตอบโต้ที่ดีที่สุดคือปืนใหญ่พิสัยไกลอื่นๆ ดังนั้นพวกเขากำลังมองหาและจัดหาปืนใหญ่พิสัยไกลที่เพิ่มมากขึ้น (รวมถึง) กระสุนเป็นหลัก” วอลเลสซ์ให้สัมภาษณ์ถึงข้อสรุปหลังการประชุม ก่อนกล่าวเสริมว่ายูเครน “มองหารถหุ้มเกราะบางประเภทที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นรถถัง แต่แน่นอนว่าย่อมเป็นยานเกราะป้องกัน และต่อต้านอากาศยานมากกว่า”

การเตรียมการให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ของชาติตะวันตกต่อยูเครน ถือได้ว่าเป็นการยกระดับการให้ความช่วยเหลือทางด้านอาวุธที่เพิ่มมากขึ้น โดยชาติสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และตุรกี ได้บรรลุข้อตกลงในการส่งจรวดต่อต้านพื้นผิวสู่อากาศ อาวุธต่อต้านรถถังเบา (NLAWs) รุ่นใหม่ ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน Stinger และโดรน TB2 ในการช่วยยูเครนเพื่อรับมือกับการรุกรานของรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ เซเลนสกีได้เรียกร้องขอให้ชาติตะวันตกช่วยส่งรถถัง เครื่องบินรบ และอาวุธต่อต้านขีปนาวุธและต่อต้านอากาศยานที่มีความซับซ้อนเข้ามายังยูเครน เพื่อช่วยให้การขับไล่รัสเซียออกจากประเทศตน ด้วยจำนวนรถถัง 1% และเครื่องบินอีก 1% เท่าที่ NATO มีอยู่ อย่างไรก็ดี ชาติตะวันตกตัดสินใจที่จะไม่ส่งอาวุธดังกล่าวเข้าไปยังยูเครน เพื่อลดการเข้าไปมีส่วนกับความขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซีย และหลีกเลี่ยงสงครามอาวุธนิวเคลียร์ที่อาจมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้

ชาติที่เข้าประชุมทั้ง 35 ชาติในครั้งนี้ ประกอบไปด้วยชาติต่างๆ อย่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ โดยบางประเทศต้องการจะส่งอาวุธของตนเองไปให้กับยูเครนโดยตรง ในขณะที่บางประเทศเลือกที่จะบริจาคเป็นเงินให้แก่ยูเครนเพื่อให้ยูเครนซื้ออาวุธด้วยตนเอง ทั้งนี้ หลายชาติกำลังหาทางในการส่งระบบป้องกันชายฝั่ง ซึ่งจะสามารถช่วยปกป้องเมืองโอเดสซาทางตอนใต้ของยูเครน และขัดขวางเรือรบรัสเซียในทะเลดำได้

ปัจจุบันนี้ รัสเซียได้ละทิ้งแผนการเข้ายึดกรุงเคียฟของยูเครน และหันไปให้ความสนใจกับพื้นที่ทางตะวันออกของรัสเซียแทน หลังจากกองทัพรัสเซียใช้เวลาในการรุกรานกว่า 37 วันแล้ว แต่กลับไม่สามารถยึดยูเครนได้ทั้งประเทศ ทั้งนี้ เมืองมารีอูปอลซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในยูเครนกำลังถูกรัสเซียล้อมถล่มอย่างหนัก เพื่อหวังว่าตนจะสามารถยึดพื้นที่ดังกล่าวและใช้เพื่อเป็นทางเชื่อมระหว่างไครเมียกับดอนบาสได้

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/mar/31/west-to-send-more-lethal-aid-to-ukraine-uk-defence-minister-says?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR2ySWW8mkGAqLC3zq-BDaYcnnyrnsq8Dq-hJ3uJpsvViRX-Ne-cEBzAlGo

https://www.reuters.com/business/aerospace-defense/britain-allies-send-more-lethal-aid-ukraine-uk-defence-minister-2022-03-31/