นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฏร ชี้แจงถึงเหตุผลที่ไม่บรรจุญัตติการตรวจสอบที่มา ส.ว.แทนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ โดยระบุว่า "ผมอยากเรียนท่านชวน และนายสมบูรณ์ว่า ความเคลือบแคลงต่อกระบวนการสรรหา ส.ว.นั้น ไม่ใช่มีเฉพาะผมและพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น แต่เรื่องนี้คาใจคนส่วนใหญ่ของประเทศ"
"ดังจะเห็นได้จากซูเปอร์โพลแถลงสัปดาห์ที่แล้วว่าคน 82 เปอร์เซ็นต์กว่า อยากให้ตรวจสอบ และ 17 เปอร์เซ็นต์กว่าไม่อยากให้ตรวจสอบ การทำเรื่องนี้ของผมและฝ่ายค้านจึงทำตามความต้องการของสังคม เป็นการทำหน้าที่ ส.ส. และทำตามกรอบกฏหมาย ข้อบังคับทุกประการ ผมจึงอยากให้ทั้ง 2 ท่านตระหนักว่านี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใคร แต่เป็นเรื่องของสภาฯ กับประชาชน เป็นเรื่องที่สภาฯ ต้องมีคำตอบและคำอธิบายที่ชัดเจนแก่ประชาชน
แต่ที่ผ่านมาไม่มีเลย มีเพียงเจ้าหน้าที่สภาฯ ส่งหนังสือถึงผมเมื่อล่วงเลยกรอบเวลาไปแล้วด้วย โดยตอบสั้นๆ ว่าไม่มีอำนาจตามมาตรา 129 ส่วนท่านชวนตอบแบบไม่รับผิดชอบว่าเพราะญัตติฝ่ายค้านเขียนสับสน ซึ่งไปคนละทางกันและทำให้ฝ่ายค้านเสียหาย เมื่อเป็นเช่นนั้น ผมจึงชี้แจงและขอให้ท่านชวน อธิบายให้ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องเอาแต่ใจหรืองอแงไม่ยอมรับ แต่เป็นการทำหน้าที่ให้ประชาชนจนถึงที่สุด
แล้วผมก็ผิดหวังเมื่อท่านชวน ให้นายสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเลขาฯออกมาชี้แจงแทน โดยนอกจากไปคนละทางกับท่านชวนแล้ว ยังไม่ชัดเจนอีกแถมตอบคำถามผมไม่ครบ คือการไม่ยอมชี้แจงว่า การวินิจฉัยล่าช้าเลยกรอบเวลาซึ่งผิดข้อบังคับนั้นมีข้อยกเว้นอะไร แต่นายสมบูรณ์กลับใช้ลีลามวยวัดออกนอกเรื่อง แขวะคนอื่นไปเรื่อยซึ่งผมดูออกว่าเป็นการกลบเกลื่อนความผิดที่มิสามารถชี้แจงได้ พฤติกรรมเช่นนี้น่าห่วงว่าต่อไปข้างหน้าการทำงานสภาฯ ซึ่งปกติจะมีเรื่องเห็นต่างกันในข้อบังคับเนืองๆ
แล้วประธานสภาฯ เลขาฯ ทำตัวไม่เป็นกลาง เป็นคู่ขัดแย้งและใช้ลีลามวยวัดกับสมาชิกอย่างนี้แล้วจะกระทบต่อการทำงานของสภาแน่นอน ผมจึงขอให้ท่านได้พิจารณา อยู่ในสถานะนั้นควรนิ่งกว่านี้อีกและอธิบายแบบผู้ใหญ่ โดยไม่ต้องชี้แจงกับผมก็ได้แต่อธิบายกับประชาชน 82 เปอร์เซ็นต์ ให้เขาหายคาใจ และถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงไม่เอาส.ส.สอบตกมาเป็นเลขาเพราะเขาอาจไม่รับผิดชอบต่อสภา"
ขณะเดียวกัน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ ส.ส.จำนวน 110 คนที่ร้องขอตรวจสอบคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ โดยเห็นว่ากรณีนี้ ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ตลอดจนพยานหลักฐานไม่มีอะไรซับซ้อน
นอกจากนี้ ศาลฏีกาได้มีคำพิพากษา ทึ่ 3578/2560 ระหว่าง พนักงานอัยการ โจทก์ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จำเลย ข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ไม่ไปรายงานตัวตามประกาศ คสช. โดยในคำพิพากษาศาลได้ชี้สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งก็หมายถึงเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐอย่างชัดเจน เพื่อมิให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความเสียหาย หากศาล รธน.มีความเห็นเช่นเดียวกับศาลฎีกา ดังนั้น ศาล รธน.ควรเร่งวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว ก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ ฯ จะนำ ครม.เข้าเฝ้า ฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ฯ ซึ่งหากศาล รธน.วินิจฉัย
เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น โดยมีคำวินิจฉัยภายหลังการเข้าเฝ้า ฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ จะเกิดความเสียหายตามมาอย่างมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นประเทศ จะมีผลกระทบตามมาอย่างรุนแรง จึงเป็นเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญควรเร่งวินิจฉัยก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ฯ จะนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้า ฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ดังกล่าวข้างต้น