โดยอยู่ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจต่อคำเชิญของพรรค โดยเวทีแรกคือ จ.นครราชสีมา 10มี.ค.นี้ ความสำคัญคือเป็นบ้านเกิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่บิดาเคยเป็นนายทหาร ทภ.2 ค่ายสุรนารี และเวทีต่อๆไป คือ จ.เชียงราย จ.นราธิวาส และปิดท้ายปราศรัยใหญ่ที่ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการปราศรัยให้ครบทั้ง 4 ภาค
ต้องดูกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะสามารถปลุกพลังฐานเสียงและลูกพรรคได้หรือไม่ และกระแสจะเป็นอย่างไร รวมถึงสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำขึ้นปราศรัยต้องการจะสื่อสารสิ่งใดออกไป แต่เชื่อกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะคุมเวทีได้
เพราะตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ก็ลงพื้นที่มาตลอด จนมีคำพูดที่ว่า “อย่าให้บิ๊กตู่จับไมค์” แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะกล่าวบนเวทีก็ต้องระมัดระวังเพราะมีกฎหมายเลือกตั้งอยู่ในเวลานี้ เพราะขึ้นเวทีในฐานะ ‘แคนดิเดตนายกฯ’
ส่วนความเคลื่อนไหวภายในกองทัพก็นิ่งสงบ เพราะเป็นห้วงการเลือกตั้ง หากกองทัพขยับก็จะทำให้เกิดกระแสโจมตีกลับมาได้ หลัง 3 สัปดาห์ก่อน มีกระแสข่าวรัฐประหารซ้อนและราชกิจจานุเบกษาปลอมปลด 3 ผบ.เหล่าทัพออกมา
รวมทั้งปรากฏการณ์ ‘เพลงหนักแผ่นดิน’ หลัง ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.และเลขาธิการคสช. ได้ส่งสัญญาณไปถึงฝั่งการเมือง ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ถูกกระแสวิจารณ์จากฝ่ายการเมืองถึงบทบาทความเป็นกลาง
จึงทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ หลีกเลี่ยงการเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา โดย พล.อ.อภิรัชต์ ได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ บก.ทบ.ราชดำเนิน เช่น อาคารพิพิธภัณฑ์ ที่วางแผนใช้เป็นสถานที่รับรองแขกต่างประเทศ เพราะเป็นอาคารเก่าแก่และสวยงาม
รวมทั้งให้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกทบ.และคสช. ทำหน้าที่ชี้แจงประเด็นการเมืองแทนทั้งหมด และ ‘ผู้พันนิ่ม’พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ.และคสช. ทำหน้าที่ชี้แจงแนวนโยบายต่างๆ
ในช่วงเวลานี้ ผบ.เหล่าทัพ ต่างทำงานในหน้าที่และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ประเด็นการเมือง
ล่าสุดในการประชุม ผบ.เหล่าทัพ ‘บิ๊กกบ’พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ก็ไม่ได้นำ ผบ.เหล่าทัพ มาแถลงข่าวหลังประชุม 2 ครั้งแล้ว ตั้งแต่การประชุมช่วงต้นปี 2562 โดยการประชุม ผบ.เหล่าทัพ จะจัดขึ้นทุก 2 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถามการเมืองในเวลานี้ โดยให้ทีมโฆษกมาแถลงข่าวแทน โดยในที่ประชุม ผบ.ทหารสูงสุด ได้เน้นย้ำเหล่าทัพให้ไปกำลังพลให้วางตัวเป็นกลางทางการเมือง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด และมีสติในการเลือกตั้ง
อีกสิ่งที่ฝ่ายการเมืองโจมตีมายัง บก.กองทัพไทย คือการถามถึงบทบาทความสำคัญของ บก.กองทัพไทย โดย พล.อ.พรพิพัฒน์ ได้ให้ ‘เสธ.เวฟ’พล.ต.กฤษณ์ จันทรนิยม โฆษก บก.กองทัพไทย ได้ออกมาชี้แจงแทนแล้ว หลังฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีไม่ถึง 2 วัน
ด้าน ‘บิ๊กต่าย’พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. ก็ทำภารกิจในส่วนของ ทอ.
ส่วน ‘บิ๊กลือ’พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทอ. อยู่ในระหว่างการตรวจการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2562 รวมทั้งฟิตร่างกายร่วมกิจกรรม ‘ไตรกีฬานาวีฯ’ ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในการนำ ผบ.หน่วย ทร. ลงแข่งขั้น ปลุกพลังความเป็นนักรบชาวเรือ
ในส่วนของ ‘บิ๊กณัฐ’ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ก็ทำงานในหน้าที่ตามปกติ แต่มีงานสำคัญในการพัฒนาพื้นที่รอบกระทรวงกลาโหมกับชุมชนรอบข้าง
อีกทั้งกระทรวงกลาโหมได้ให้ ‘เสธ.ต้อง’ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาชี้แจงกระแสโจมตีกองทัพของพรรคการเมืองเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ที่มีการหาเสียงในหลายพรรคว่าจะลดงบกระหทรวงกลาโหมและการยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหาร โดยเบื้องต้น ‘ทีมโฆษกกลาโหม’ จะชี้แจงในเรื่องต่างๆตามที่มีประเด็นเกิดขึ้นในสังคมหรือสิ่งที่สื่อต้องการให้มีการชี้แจง เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือตามโอกาสต่างๆ
ทั้งหมดจึงชี้ให้เห็นว่าเหล่าทัพจะใช้ระบบ ‘ทีมโฆษก’ ในการแถลงข่าวชี้แจงเรื่องต่างๆที่กองทัพถูกโจมตี เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพเป็นเป้านิ่งทางการเมืองในเวลานี้ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกแบ่งข้างชัดเจนระหว่างสนับสนุนและไม่สนับสนุน คสช. แล้วจึงนำมาสู่การแบ่งฝ่ายพรรคการเมือง ซึ่งในเวลานี้แต่ละพรรคก็เริ่มมีท่าทีที่ชัดเจนขึ้น หลังเริ่มเห็นทิศทางลมต่างๆ
อย่างไรก็ตามกระแสข่าวโจมตีไม่ได้เกิดขึ้นในเหล่าทัพอย่างเดียว
แต่มีไปถึง ‘บ้านเสี่เสาเทเวศร์’ ด้วย โดยมีการปล่อยข่าวผ่านเฟซบุ๊กและไลน์ว่า ‘ป๋าเปรม’ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ไม่สบายหนัก
ทั้งนี้มีรายงานข่าวยืนยันว่า ‘พล.อ.เปรม’ ยังคงแข็งแรงดี เดินออกกำลังกายตามปกติ หรือร้องเพลง-เล่นดนตรีในเวลาว่าง หลังเสร็จภารกิจงานต่างๆ ที่บ้านสี่เสาฯด้วย รวมทั้งไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายตามที่แพทย์นัดเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยนายทหารใกล้ชิด ระบุว่า “ร่างกายป๋าปกติดี ตามสภาพคนอายุ 99 ปี”
อีกทั้ง ‘ป๋าเปรม’ ยังคงเดินทางไปเป็นประธานที่ประชุมองคมนตรี ที่ ทำเนียบองคมนตรี วังสราญรมย์ ด้วยตนเองทุกวันอังคาร ดังนั้นกระแสข่าวทั้งหมดจึงเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น
ล่าสุด พล.อ.เปรม เตรียมไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต 17มี.ค.นี้ ใน กรุงเทพฯ เพราะทะเบียนบ้านของ ‘ป๋าเปรม’ อยู่ที่บ้านแม่ทัพ จ.นครราชสีมา
หากสังเกตุจะพบว่ากระแสข่าวถึง ‘ป๋าเปรม’ ในลักษณะนี้มีมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยจะมาตามวงรอบ ในช่วงที่ ‘ป๋าเปรม’ ไม่ได้ออกงานและออกสื่อ อีกมุมกระแสข่าวลือที่เกิดขึ้น ก็สะท้อนถึง ‘บารมี’ ของ ‘ป๋าเปรม’ ที่ไม่เคยเสื่อมคลายลงไป
สถานการณ์การเมืองที่ต้องจับตา หลัง 7 มี.ค.นี้ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะอ่านคำวินิจฉัยว่าพรรคไทยรักษาชาติจะมีถูกยุบหรือไม่ จะมีแรงเคลื่อนไหวต่างๆจะเกิดขึ้นหรือไม่ ? รวมทั้งสถานการณ์หลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ? ซึ่งผลการเลือกตั้งถือเป็น ‘ปัจจัยหลัก’ ในการกำหนดสถานการณ์ต่างๆ
สิ่งหนึ่งที่ยังตัดทิ้งไปไม่ได้ในเวลานี้คือการมี ‘รัฐบาลแห่งชาติ’
หากเกิด ‘อุบัติเหตุทางการเมือง’ ขึ้นในอนาคต โดยสุกงอมพอจะเป็นเหตุผลหรือเงื่อนไขที่สังคมยอมรับได้
ทว่าระยะเวลา 3 สัปดาห์ก่อนถึง 24 มี.ค.นี้ เกมการเมืองทุกอย่างสามารถพลิกได้เพียงข้ามคืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง