ไม่พบผลการค้นหา
‘เพื่อไทย’ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. - ร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง สาระสำคัญให้เบอร์ผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขต-ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคการเมืองเบอร์เดียวกันทั่วประเทศ พร้อมกำหนดสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ คาดบรรจุเข้าวาระประชุมสภา ม.ค.ปีหน้า

วันที่ 16 ธ.ค. 2564 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงการดำเนินเสนอร่าง พ.ร.ป.รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 

นพ.ชลน่าน ระบุว่า ในรายละเอียด ร่างของพรรคเพื่อไทยจะเขียนรองรับวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเน้นเขตเลือกตั้งที่มีพื้นที่ติดต่อกัน มีฐานจำนวนประชากรใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ คือการคำนวณคะแนนที่เป็นสัดส่วนโดยตรง นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองทั่วประเทศมารวมกัน นำมาหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 100 คน ซึ่งจำนวนที่หารได้จะเป็นคะแนนเฉลี่ยในการนำมาคิดคำนวณว่าแต่ละพรรคการเมืองจะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อกี่คน ซึ่งเมื่อนำมาหารแล้วจะมีเศษ และจะนำเศษที่เหลือมาดูว่าพรรคการเมืองไหนเหลือเศษมากที่สุด ก็นำมาเรียงตามลำดับจนครบจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วนเรื่องหมายเลขผู้สมัครนั้น ร่างพรรคเพื่อไทยเหมือนกับร่างของ กกต.โดยเขียนให้ใช้หมายเลขเดียวกัน ทั้งบัญชีรายชื่อและเขตเลือกตั้ง 

ในส่วนของ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มองว่า ทางรัฐบาลอาจจะไม่เสนอ แต่ทางพรรคเพื่อไทยเห็นว่ามีความสำคัญ ซึ่งร่างของพรรคเพื่อไทยยังส่งเสริมให้มีการทำ การเลือกตั้งเบื้องต้น หรือไพรมารีโหวตอยู่ แต่ให้เปลี่ยนวิธีการ จากการที่มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้งถึงจะมีสิทธิส่งผู้สมัครได้ เปลี่ยนเป็นให้มีเพียงสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองเพียง 1 เขตก็สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ทุกเขตในจังหวัด 

นอกจากนี้ ในเรื่องข้อจำกัดของการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จากเดิมที่ต้องกำหนดค่าบำรุงพรรคต่อปี 200 บาท ตลอดชีพ 2,000 บาท ร่างของพรรคเพื่อไทยจะเสนอให้เป็นข้อกำหนดของแต่ละพรรค ไม่ต้องมากำหนดในกฎหมาย 

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ยังมองว่า การจัดทำบัตรเลือกตั้งให้เป็นหมายเลขเดียวกันทั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อนั้น ไม่ใช่อุปสรรคในการจัดทำ เพราะเขียนขั้นตอนรองรับไว้แล้ว และสามารถเขียนในข้อกฎหมายเพิ่มเติมได้ 

ด้าน สุทิน กล่าวถึงขั้นตอนของการยื่นร่างว่า เมื่อได้ยื่นแล้ว ก็เป็นไปตามกระบวนการของสภาและน่าจะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมจะมีขึ้นในเดือน ม.ค. 2565 และเท่าที่ทราบทุกพรรคการเมืองเห็นสอดคล้องกัน แตกต่างบ้างในรายละเอียดนิดหน่อย แต่ในส่วนของการยื่นร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะไม่มี โดยให้อิสระแต่พรรคในการยื่น

โดยร่างกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. มีรายละเอียดที่สำคัญ 4 เรื่องดังนี้

1) การแบ่งเขตเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งเดียวกันต้องมีเขตพื้นที่ติดต่อกัน แตกต่างจากกฎหมายเดิม ซึ่งเขตเลือกตั้งเดียวกันแต่พื้นที่มิได้ติดต่อกัน ที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

2) ฐานจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องใกล้เคียงกัน เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ฐานจำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งแต่ละเขตมีจำนวนแตกต่างกันมาก บางเขตแตกต่างกันมากถึง 90,000 คนเป็นต้น 

3) การคำนวณคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยได้ยกร่างอย่างชัดเจนให้คำนวณคะแนนด้วยการนำคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองหารด้วย 100 แล้วหารด้วยคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง ก็จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการการเมือง ซึ่งเป็นการคำนวณที่ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา และจะไม่มีการปัดเศษ 

4) กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อมีเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ 

สำหรับร่างกฎหมายพรรคการเมือง นั้นเมื่อเขตเลือกตั้งเปลี่ยนจาก 350 เขตเป็น 400 เขต กฎหมายเดิมกำหนดไพรมารีโหวตและจัดตั้งตัวแทนประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยยืนยันเสนอหลักการส่งเสริมระบบไพรมารีโหวต แต่เปลี่ยนวิธีการจากการมีตัวแทนหรือสาขาพรรคการเมืองประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง มาเป็นมีเพียงสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพียง 1 เขตก็สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น

ชลน่าน สุทิน จุลพันธ์ ธีรรัตน์ เพื่อไทย 6-FBA4FED08B0F.jpeg