ไม่พบผลการค้นหา
มองคำพิพากษาศาลคดี 112 กรณีหมิ่นอดีตกษัตริย์ พบบางครั้งคุ้มครองกษัตริย์ที่สวรรคตแล้ว ชี้ทำให้กษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เสื่อมเสียด้วย แต่บางครั้งก็ไม่คุ้มครอง

มาตรา 112 ถูกหยิบกลับมาใช้อย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง หลังการลุกฮือชุมนุมประท้วงของกลุ่มราษฎรในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งชูข้อเรียกร้องดันเพดานการเมืองไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฎชัดมาก่อนคือ ‘การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’

แม้หลังการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 จะพบว่าไม่มีการใช้มาตรา 112 อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากที่กระแสม็อบราษฎรพุ่งสูงขึ้น 19 พ.ย. 2563 รัฐบาลประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีว่า จะใช้กฎหมาย ทุกฉบับ ทุกมาตรา ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม

จากนั้นมาตรา 112 จึงถูกนำมาบังคับใช้อีกครั้ง ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า นับจากวันนั้นถึงปัจจุบันมีการดำเนินคดี 112 เกิดขึ้นแล้วทั้ง 256 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 237 ราย ในจำนวนนี้มีหลายคดีที่ดำเนินไปถึงการพิพากษาแล้ว โดยมีทั้งการยกฟ้อง และสั่งจำคุก ทั้งจำคุกแบบรอลงอาญา และไม่รอลงอาญา

อย่างไรก็ตามในบางคดีพบว่ามีพฤติการณ์ที่คล้ายกัน แต่ศาลกลับมีคำวินิจฉัย และคำพิพากษาที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นการหมิ่นอดีตกษัตริย์

ทั้งนี้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" ซึ่งหมายความว่าบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้มีทั้ง 4 ตำแหน่ง คือ กษัตริย์ ราชินี รัชทยาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

‘วอยซ์’ เปิดคำพิพากษาคดี 112 กรณีการวินิจฉัยว่า 'อดีตกษัตริย์' ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่


ศาลฎีกาชี้ ร.4 เป็นพ่อ ร.5 และ ร.5 เป็นปู่ของ ร.9 การวิจารณ์ ร.4 จึงกระทบต่อ ร.9

กรณีการฟ้องร้องดำเนินคดี ณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ ผู้จัดรายการสถานีวิทยุชุมชน ในจังหวัดชลบุรี เกิดจากการพูดในรายการวิทยุ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2548 ว่า 

"เพราะศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในสิ่งใดที่เราคิดว่า เราเสียไปแล้วเนี๊ยะ ถ้าเราทำด้วยความอิสระ ทำด้วยความคิดเสรี เพื่อพี่น้องประชาชน เราไปครับ แต่ถ้าเราต้องไปแล้วต้องเป็นเหมือนกับสมัยรัชกาลที่ ๔ เราไม่เป็นครับท่าน ยุคนั้นหมดไปแล้ว" 

โดยอัยการชี้ว่า ข้อความดังกล่าว เป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต โดยเปรียบว่ายุคของพระองค์เหมือนต้องไปเป็นทาส ไม่มีความอิสระ มีการปกครองที่ไม่ดี ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา โดยประการนี้ น่าจะทำให้รัชกาลที่ 4 เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ

โดยคดีนี้ ศาลชั้นพิพากษาให้ ณัชกฤช มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำคุกเป็นเวลา 4 ปี แต่เนืองจากจำเลยให้การรับสาร มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี  โดยให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และกำหนดให้จำเลยไปรายการตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน ในเวลา 1 ปี ให้จำเลยทำกิจกรรมการบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง 

อย่างไรก็ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2552 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า คำว่า “พระมหากษัตริย์” ตามบทมาตราดังกล่าว หมายความถึง พระมหากษัตริย์ซึ่งยังทรงครองราชย์อยู่ แต่ตามโจกท์ฟ้องบรรยายว่า จำเลย ใส่ความหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในอดีต คำฟ้องของโจกท์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว

แต่ในชั้นฎีกาเห็นว่า

"ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชต้นราชวงศ์ตลอดมาจนกระทั่งรัชกาลปัจจุบัน ประชาชนในประเทศจึงผูกพันกับพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นที่เคารพสักการะซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือ บุคคลใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้ ด้วยเหตุนี้การที่กฎหมายมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น ผู้กระทำจึงจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แม้จะกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ซึ่งสวรรคตไปแล้ว ก็ยังเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว การหมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ก็ย่อมกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันที่ยังคงครองราชย์อยู่ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน หากตีความว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นองค์ปัจจุบันที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ก็จะเป็นช่องทางให้เกิดการละเมิด หมิ่นประมาท ให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ ดังได้กล่าวในเบื้องต้นมาแล้วว่าประชาชนชาวไทยผูกพันกับสถาบันกษัตริย์มาตลอด แม้จะเสด็จสวรรคตไปแล้วประชาชนก็ยังเคารพพสักการะ ยังมีพิธีรำลึกถึงโดยทางราชการจัดพิธีวางพวงมาลาทุกปี ดังนั้น หากมีการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ที่เสด็จสวรรคตไปแล้วก็ยังกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนอันจะนำไปสู่ความไม่พอใจและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้"

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น


อัยการทหาร สั่งไม่ฟ้อง ‘ส.ศิวรักษ์’ คดีหมิ่นสมเด็จพระนเรศวรฯ 

การดำเนินคดีกับ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เกิดขึ้นในยุคเผด็จการ คสช. โดยพล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ว่า สุลักษณ์ ได้กล่าวพาดพิงถึงสมเด็จพระนเรศวลมหาราช โดยอ้างว่าเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมินพระมหากษัตริย์ ในเวทีทางวิชาการ “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดโดยกลุ่มนักศึกษา เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2557 จากการพูดว่า การทำยุทธหัตถีไม่มีจริง

สำหรับการดำเนินคดี 112 ซึ่งว่าเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ในเวลานั้น คสช. ได้มีคำสั่งให้มีการพิจารณาคดีบนศาลทหาร ต่อมาเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2560 พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีดังกล่าวเสร็จแล้วและมีความเห็นควรสั่งฟ้อง จนกระทั่ง17 ม.ค. 2561 อัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี โดยเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2560 สุลักษณ์ เข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ จากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศว่าไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ที่ทางราชการไทยมอบให้


วิจารณ์ ร.9  ศาลยกฟ้อง ชี้ 112 ไม่คุ้มครองอดีตกษัตริย์

กรณีเกิดขึ้นกับ จรัส (สงวนนามสกุล) ขณะที่ถูกดำเนินคดีเขามีอายุเพียง 18 ปี จรัสถูกแจ้งความโดย  นิรุตต์ แก้วเจริญ จากกรณีแสดงความคิดเห็นและถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของ รัชกาลที่ 9 ในกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘เพจจันทบุรี’ โดยในครั้งแรกจรัสถูกแจ้งด้วยข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14  เพียงข้อหาเดียว แต่หลังจากพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ และต่อมาพนักงานอัยการได้มีคำสั่งให้แจ้งข้อหากับจรัสเพิ่มเติมในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ให้ยกฟ้องในมาตรา 112 แต่สั่งจำคุก ในความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) เป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน และปรับเงิน 26,666.66 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และให้คุมความประพฤติ 1 ปี กับให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ 12 ชั่วโมง  

ในส่วนของความผิดตามมาตรา 112  ศาลได้พิพากษาว่าจรัสไม่มีความผิด โดยประเด็นที่ใช้วินิจฉัยนั้น ได้แก่ การตีความคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ตามประมวลกฎหมายอาญา 112 นั้นหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ยังทรงครองราชย์อยู่ ขณะที่กระทำความผิด ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ในอดีตที่เสด็จสวรรคตไปแล้ว ซึ่งรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2559 เป็นเวลาก่อนที่จรัสจะลงข้อความที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง

ศาลจึงมีคำพิพากษาว่า การกระทำของจรัส ‘ขาดองค์ประกอบ’ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะเป็นการกระทำต่อ ‘อดีตพระมหากษัตริย์’ ซึ่งสวรรคตไปแล้ว จรัสจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์


วิจารณ์ ร.9 โทษจำคุก ศาลชี้แม้ ร.9 สวรรคตแล้ว แต่ถือว่าทำให้ ร.10 เสื่อมเสีย

ใจ (นามสมมติ) เพิ่งถูกศาลอาญาสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี จากทวีตรูปและพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความแสดงความเห็นวิจารณ์ รัชกาลที่ 9 

คดีนี้ ใจถูกอัยการสั่งฟ้องจากการเขียนข้อความ พร้อมติดแฮชแท็กเกี่ยวกับกษัตริย์ ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีข้อความประกอบภาพว่า “ไม่ต้องจำว่าฉันคือใคร แต่จำว่าฉันทำอะไรก็พอ” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 

ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้มีการโพสต์ภาพหรือข้อความที่สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน และไม่มีข้อความใดที่สามารถเชื่อมโยงถึงรัชกาลที่ 10 ได้ ทั้งจำเลยไม่ได้ทำความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 ตามที่โจทก์ฟ้อง เนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่ได้เข้าองค์ประกอบ

ผู้พิพากษาอุไรวรรณ ประชุมจิตร ไชยพรรค เจ้าของสำนวนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้ว ตามที่พยานโจทก์นำสืบว่า บัญชีทวิตเตอร์ของจำเลยมีความเชื่อมโยงกับบัญชีโซเชียลมีเดียอื่น และมีโปรไฟล์ใบหน้าเดียวกันทั้ง 3 บัญชี พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ และเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีทวิเตอร์ที่มีการโพสต์รูปและข้อความตามฟ้อง ที่จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาตั้งแต่ในชั้นสอบสวนว่า ไม่ใช่ผู้นำเข้าข้อมูล จึงรับฟังไม่ได้

ทั้งพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งในฐานะประมุขของประเทศ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ และเมื่อการนำเข้าข้อมูลดังกล่าว มีพยานโจทก์ประชาชนเข้าเบิกความสอดคล้องกันว่า ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจข้อความได้ว่า รัชกาลที่ 9 เป็นฆาตกร อันเป็นการละเมิดต่อรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน

ที่พยานจำเลยนำสืบว่า มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองอดีตกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ว่า คุ้มครองกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น และแม้รัชกาลที่ 9 จะสวรรคตไปแล้ว การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระราชโอรส และทรงครองราชย์อยู่ในปัจจุบัน ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

พิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) แต่ขณะจำเลยกระทำผิดมีอายุเพียง 19 ปีเศษ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา โดยกรณีนี้ใจได้รับสิทธิประกันตัวสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์


ข้อมูลจาก : https://prachatai.com/journal/2017/10/73602

https://prachatai.com/journal/2018/01/74980

https://tlhr2014.com/archives/54381

https://tlhr2014.com/archives/39762

https://tlhr2014.com/archives/23983

https://freedom.ilaw.or.th/node/934