ไม่พบผลการค้นหา
ครม.รับทราบผลการหารือกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ก.ค. 66 ได้รับทราบผลการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ สืบเนื่องมาจากที่ปัจจุบันได้ปรากฎกรณีการลาออกของบุคลากรทางการแพทย์โดยต่อเนื่อง ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานเห็นพ้องกันว่าการบริหารบุคลากรภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมีความท้ายทายในหลายประเด็น จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และเป็นธรรม

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงาน ก.พ. ได้หารือร่วมกันมา 3 ครั้ง มีประเด็นสำคัญที่เห็นร่วมกันว่าต้องได้รับการพัฒนาสำคัญ ได้แก่ การขาดแคลนอัตรากำลัง การพัฒนาความก้าวหน้าในสายงาน การเพิ่มอัตราการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลน การปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทน และการปรับปรุงสวัสดิการให้แก่บุคลากร

การปรับปรุงการบริหารทรัพยากรบุคคลของสาธารณสุขจำเป็นต้องดำเนินการในภาพรวม ทั้งประเด็นหลักและประเด็นย่อย เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขมีความหลากหลายในสายงาน มีบุคลากรจำนวนมาก และกระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ ปัญหาจึงอาจเกิดขึ้นในหลายมิติ ทั้งในมิติบริหารจัดการ มิติของผู้รับบริการ และมิติของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน จึงเห็นควรตั้งคณะทำงานร่วมของทั้ง 2 หน่วยงาน ในการกำหนดกรอบประเด็นปัญหาภาพรวม และประเด็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเร่งด่วน (Priority Issues) เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้ทันสถานการณ์ เหมาะสม และสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร

ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทั้ง 2 หน่วยงานเห็นร่วมกันนั้น กำหนดเป็น 2 ระยะ คือ 1) ระยะเร่งด่วน เช่น การแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ พิจารณากำหนดตำแหน่งวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ ในราชการส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยอาจดำเนินการนำร่องกับสายงานพยาบาลวิชาชีพ ในกระทรวงสาธารณสุขก่อน แล้วขยายผลต่อไปยังสายงานอื่นๆ และส่วนราชการอื่นต่อไป 2) ระยะยาว เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตนักศึกษาในสายงานบุคลากรทางการแพทย์ การปรับปรุงพัฒนาระบบสวัสดิการและค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์


ครม.พร้อมดันแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ว่า ครม.รับทราบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 - 2570) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ แผนปฏิบัติการฉบับนี้จัดทำขึ้นตามแนวทางตามคู่มือว่าด้วยแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ตามกรอบแนวทางของหลักการ United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGPs) ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ การคุ้มครอง การเคารพ และการเยียวยา รวมทั้งเป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะสำคัญที่ประเทศไทยรับมาปฏิบัติตามกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน

สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 - 2570) ประกอบด้วย 4 แผน ได้แก่ 

1.แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน อาทิ (1)การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เช่น จัดทำแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมปฏิญญาไตรภาคี เรื่อง หลักการว่าด้วยสถานประกอบการข้ามชาติและนโยบายสังคม (MNE Declaration) มีความสอดคล้องกับบริบทของไทย

(2)การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และมาตรการที่เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ เช่น การคุ้มครองสิทธิแรงงาน การจัดสวัสดิการสังคม การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอ 

(3)พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านแรงงานและระบบค้นหาข้อมูลด้านแรงงาน

(4)การขจัดการเลือกปฏิบัติ การล่วงละเมิด และการเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ทางแรงงานอย่างเท่าเทียม โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิแรงงานกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ที่อาจถูกเลือกปฏิบัติ

เช่น แรงงานสตรี กลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ผู้สูงอายุ ผู้เคยถูกคุมขัง ให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน โดยใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ การจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนเพื่อลดอคติและการตีตราต่อแรงงานกลุ่มเปราะบาง 

2.แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อาทิ

(1)การพัฒนาปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง 

(2)จัดให้มีการหารือและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในรูปแบบออนไลน์และในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

(3)เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการและการจัดทำผังเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

(4)กำหนดช่องทางและมาตรการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ โดยการชดเชยเยียวยาต้องรวดเร็ว เป็นธรรม และเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

3.แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ (1)ผลักดันการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) (2)บูรณาการ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับระบบการไกล่เกลี่ย ในทุกระดับชั้นของกระบวนการยุติธรรม (3)เยียวยาเหยื่อหรือผู้เสียหายตามกรอบกฎหมายและพัฒนามาตรการเยียวยาทั้งทางร่างกายและจิตใจให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

4.แผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ อาทิ (1)ศึกษาและจัดทำแนวปฏิบัติและกระบวนการให้ความเห็นต่อสัญญาในกรณีที่ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทำธุรกิจกับบรรษัทข้ามชาติ (2)พัฒนามาตรการและกลไกการกำกับดูแลนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ให้เคารพสิทธิมนุษยชน หลักการ UNGPs และเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) (3)พัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดนรวมถึงผลกระทบ 

รัชดา กล่าวว่า กลไกการกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฉบับนี้ จะดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยมีอำนาจและหน้าที่ เช่น พัฒนาและปรับปรุงแผนปฏิบัติการ และแก้ไขปัญหากรณีข้อร้องเรียนร้องทุกข์จากการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบการ

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้รวบรวมและจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 2 ระยะ คือ ระยะครึ่งรอบ (ระหว่าง พ.ศ.2566 - 2568) และระยะเต็มรอบ (ระหว่าง พ.ศ.2566 -2570) เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และนำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาและเผยแพร่ต่อไป


ครม. ปลื้มผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ปี 2566 ขยับสูงขึ้นในลำดับที่ 30

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรี รับทราบผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ปี 2566 ไทยอยู่ในลำดับที่ 30 ของโลก ดีขึ้นจากลำดับที่ 33 ในปี 2565 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ และเป็นลำดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีผลการจัดอันดับปัจจัยหลักตามเกณฑ์ตัวชี้วัด 4 กลุ่ม ดีขึ้นในทุกด้าน ดังนี้ 

(1) ด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจ ลำดับที่ 16 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 34 ในปี 2565 จากการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศดีขึ้น หลังจากการชะลอตัวในช่วงโควิด-19 และการฟื้นตัวภาคการส่งออก ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 

(2) ด้านประสิทธิภาพภาครัฐ ลำดับที่ 24 ปรับดีขึ้นจากลำดับ 31 ในปี 2565 จากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริหารสถาบัน และกฎระเบียบธุรกิจปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้านนโยบายภาษีและกรอบการบริหารสังคมมีอันดับลดลง เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลง 

(3) ด้านประสิทธิภาพภาคธุรกิจ ลำดับที่ 23 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 30 ในปี 2565 จากด้านผลิตภาพตลาดแรงงาน การเงิน และทัศนคติและการให้ค่านิยมมีอันดับดีขึ้น โดยผู้ประกอบการของไทยมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น และความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีดีขึ้น รวมถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นด้วย ขณะที่ด้านการจัดการอยู่ในอันดับคงที่ เนื่องจากความกังวลต่อความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจ 

(4) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ลำดับที่ 43 ปรับดีขึ้นจากลำดับที่ 44 ในปี 2565 จากโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีมีการตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และการพัฒนาประสิทธิภาพของความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการศึกษา มีอันดับลดลงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรทางการศึกษา 

ครม.เห็นชอบปรับปรุงแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอเรื่องต่อ กกต.

ทั้งนี้ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 25 ก.ค. 66 ได้รับทราบการแก้ไขปรับปรุงแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนการดำเนินการตามมาตรา 169(3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2566 (การขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กรณีการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(สำนักงาน กกต.) เสนอ

พร้อมกันนี้ ครม. ได้เห็นชอบให้ปรับปรุงมติ ครม. เมื่อวันที่21 มี.ค. 66 เรื่องแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการขออนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามมาตรา 169(3) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางที่ กกต. แก้ไขปรับปรุง

สาระสำคัญที่มีการแก้ไขคือ ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอเรื่องต่อ กกต. จากเดิมที่เมื่อ ครม. ให้การอนุมัติแล้วให้สำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอต่อ กกต. ให้แก้ไขเป็น

"เมื่อมีกรณีที่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เหตุผล และความจำเป็นในการขอใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่ความจำเป็นต้องใช้งบประมาณรายจ่ายดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป"

ทั้งนี้ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามแนวทางที่ปรับปรุงใหม่นี้ต่อไป