ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ เผยเตรียมลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ปลาย ก.พ.นี้ ดูเศรษฐกิจ ปากท้องชาวบ้านให้ดีขึ้น บอกความมั่นคงดูแลดีอยู่แล้ว ชี้ 'พิธา' ลงไปก่อนเป็นเรื่องดี ไม่มองถูกตัดหน้า

วันที่ 8 ม.ค. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่และนอนค้างคืนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า คงเป็นปลายเดือน ก.พ. แต่ในการลงไปไม่ได้ไปดูในเรื่องของความมั่นคง แต่ไปดูในเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี อาหาร หลายๆ เรื่อง ก็จะไปดูว่าสามารถต่อยอดชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ด้านเศรษฐกิจและทางด้านความมั่งคั่งจะดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งทุกคนก็ทราบดีว่าปัญหาชายแดนภาคใต้นั้น ในเรื่องของภาคความมั่นคงนั้น ทำได้ดีอยู่แล้ว เหตุการณ์ความรุนแรงน้อยลง แต่การที่เราจะทำให้ยั่งยืนต่อไปได้นั้นก็ต้องทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลนี้ที่จะต้องลงไปดู ซึ่งก็จะลงไป 2-3 วัน และหลังจากลงพื้นที่แล้วก็หวังว่าจะได้เชิญชวนผู้ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงไปด้วยในโอกาสหน้า

เมื่อถามว่า นายกฯ ประกาศจะลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ ได้ลงพื้นที่ไปก่อนแล้ว ถือเป็นการชิงลงพื้นที่ตัดหน้าทางการเมืองหรือไม่ เศรษฐา กล่าวปฏิเสธว่า “โอ้ย อย่าไปดูหรือมองว่าเป็นการตัดหน้าเลยครับ อย่าไปคิดว่าเป็นการตัดหน้าลงไปก่อนหรือหลัง ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่คุณพิธาได้ลงพื้นที่ไป ไม่ว่าจะเป็นใครที่ลงพื้นที่ไปก็เป็นเรื่องที่ดี ยินดีสนับสนุนครับ“


พร้อมแจง หลัง สว.จ่อขอเปิดอภิปราย

เศรษฐา กล่าวถึงกรณี 3 รัฐมนตรี อาทิ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี , สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลาออกจาก สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย จะไม่กระทบกับการทำงานของรัฐบาลใช่หรือไม่ 

นายกฯ ยืนยันว่า ไม่มี พร้อมกับเชื่อว่าการทำหน้าที่รัฐมนตรีจะดีขึ้น เพราะท่านได้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ ตามที่ สมศักดิ์ ได้พูดไปว่างานตามกระทรวงต่างๆ ก็เยอะอยู่แล้ว พร้อมกับย้ำว่าไม่มีนัยอะไร เพราะเป็นเรื่องของการทำงานเพียงอย่างเดียว 

เมื่อถามถึงกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางส่วน อยากเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 แบบไม่ลงมติ ในส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความพร้อมหรือไม่ นายกฯ ระบุว่า เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ถ้าเกิดฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตรวจสอบต้องการความกระจ่างหรืออะไรก็ต้องชี้แจง ซึ่งเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามย้ำว่า ระยะเวลาในการบริหารประเทศมีเพียงแค่ 4 เดือน นายกฯ กล่าวว่า ถือว่ามันเป็นหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับจำนวนเดือน หรือจำนวนวัน ซึ่งมีความพร้อม และยินดี