ไม่พบผลการค้นหา
'รอมฎอน' ถามทิศทางการบริหารพื้นที่ชายแดนใต้ หลัง ครม. ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 เดือน เป็นสัญญาณดีหรือไม่ หวังรองนายกฯ เดินสายฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ด้าน 'สมศักดิ์' เผยนายกฯ หวังยกเลิกพื้นที่ทั้งหมดภายใน 2570

วันที่ 21 ก.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) รอมฏอน ปันจอร์ สส.สตูล พรรคก้าวไกล ได้เสนอญัตติตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) มีส่วนรับผิดชอบ เรื่องการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย รอมฎอน ระบุว่า ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลมีความมุ่งมั่นจริงจังกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงใด ในวันแถลงนโยบายจึงได้ตั้งคำถามว่า ครม. จะมีการต่ออายุขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งเดิมจะหมดอายุในวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาหรือไม่ และจะยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกที่ใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด 20 ปีหรือไม่

ผลสรุปว่ามติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ได้มีการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอีกเป็นครั้งที่ 73 แต่มีความแตกต่างจากอดีตเพราะเป็นการต่ออายุเพียง 1 เดือน ตั้งแต่ 20 ก.ย. จนถึง 20 ต.ค. และจะลดระดับพื้นที่ลงอีก 1 อำเภอ และในวันเดียวกัน ประกาศใช้กฎหมายฉบับพิเศษในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

รอมฏอน กล่าวว่า ปัญหาของ 3 กฎหมายพิเศษ ได้แก่ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ปี 2549 ซึ่งประกาศใช้มาเป็นเวลายาวนาน ได้ก่อให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง 

"หากรัฐบาลต้องการสร้างหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ควรได้รับการทบทวน เพราะมีความเสี่ยงจะละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายความชอบธรรมของอำนาจรัฐด้วยตัวมันเอง"

รอมฎอน จึงสอบถามไปยังรัฐบาลว่า การลดระดับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เป็นเวลา 1 เดือนนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลมีทิศทางในการแก้ปัญหากฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร พร้อมถามด้วยว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อใด แล้วมีแผนในการบริหารจัดการภายใต้กฎหมายพิเศษนี้อย่างไร


ตัวชี้วัดยกเลิกพื้นที่ฉุกเฉินในปี 2570

ด้าน สมศักดิ์ ตอบว่า การกำหนดพื้นที่ของรัฐบาลนี้ไม่ได้ทำขึ้นมาโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นการบูรณาการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ และคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งมีเป้าหมายจะยกเลิกพื้นที่ทั้งหมดนี้ภายในปี 2570

โดยมีตัวชี้วัดการดำเนินการอย่างน้อยปีละ 2 อำเภอ ก่อนจะปรับลดเงื่อนไขทั้งหมดลง โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางในการปฏิบัติ เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความเข้าใจในพี่น้องประชาชน ได้สั่งการให้ตนเองเดินทางลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่าความเห็นของการยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆนั้นยังมีความไม่เด็ดขาด และมองว่าควรมีแผนรองรับที่ชัดเจน กังวลเรื่องความปลอดภัยของคนในสังคม

สมศักดิ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้รวบรวมความคิดเห็นของคนในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 2 สัปดาห์ ว่ามีความต้องการอย่างไร ก่อนจะดำเนินการทำแผนรับรอง แม้ว่าเพิ่งจะมารับตำแหน่งนี้ได้เพียง 2 วันก่อนจะมาตอบกระทู้ถาม พอได้สั่งการโดยเบื้องต้นให้รับฟังความเห็นของประชาชนไปแล้ว

"ต้องขอเวลาในส่วนของการดำเนินการต่างๆ ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่ไม่ถูกใจท่าน เพราะนายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว และผมคงไม่ขอตอบไปในรายละเอียดลึกลงไปกว่านี้ เพราะผมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 วัน ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่งเรื่องต่างๆ"


หวังรัฐบาลฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบ

รอมฎอน กล่าวว่า เข้าใจว่า สมศักดิ์ เพิ่งมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และพยายามตอบคำถามให้ดีที่สุด ทราบมาว่าในการประชุมนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงกฎอัยการศึกด้วย จึงเห็นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับหัวใจของปัญหา

รอมฏอน กล่าวว่า การเดินสายฟังเสียงประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ แต่อยากให้กรุณาฟังเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือเคยถูกควบคุมตัวภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ด้วยได้หรือไม่

"พยายามให้รองนายกฯ ได้ฟังเสียงที่แตกต่างออกไป ได้แค่ทางเจ้าหน้าที่หรือผู้นำเท่านั้น แต่จะเอาคนที่มีประสบการณ์โดยตรง แล้วอยู่ภายใต้การกดดันเหล่านั้น อาจจะทำให้เราสามารถประเมินกฎหมายพิเศษทั้ง 3 ได้อย่างรอบด้านจริงๆ"

ขณะที่ สมศักดิ์ ตอบว่า "ต้องรับฟัง และหากคุณรอมฎอนจะช่วยด้วย ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง เพราะเราอยากรับฟังอย่างหลากหลายและช่วยกัน จะสามารถเดินไปได้ด้วยดี"