ไม่พบผลการค้นหา
พรรคก้าวไกล ประกาศต่อสาธารณะว่ามั่นใจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะโหวตให้กับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ยึดหลักการพรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากได้เป็นที่ 1 ควรได้จัดตั้งรัฐบาล

ย้อนการตั้งรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ยุคที่ ชู “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกฯ เมื่อปี 2562 เป็นตัวอย่าง

เพียงแต่ความจริงที่คนในแวดวงการเมือง ได้ยินเต็มสองหู คือ “พิธา”แห่งพรรคก้าวไกล มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแค่ 50 : 50 ในนาทีนี้ 

เพียงแค่ด่านสำคัญ ส.ว. 250 คน ที่ พรรคก้าวไกล ส่งทีมไปกล่อม ส.ว. แต่จนถึงขณะนี้ การเข็นพิธาขึ้นภูเขาทำเนียบรัฐบาล ยังยากยิ่งกว่า “เข็นครก” 

ปมแรก มาจากความแค้นฝังหุ่น ที่ ส.ว.ปักใจ คือ พรรคก้าวไกล แสดงตนเป็น “ปฏิปักษ์” กับ ส.ว.กลุ่มใหญ่มาตั้งแต่รัฐสภาในชุดก่อน เปิดหน้า ปะ ฉะ ดะกันหลายยก อาจไม่คาดไม่ถึงว่า โอกาสการเป็นรัฐบาล - ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรี มาเร็วกว่าที่คาดคิดไว้ 

เมื่อถึงคิวต้องขอเสียง ส.ว.มายกมือโหวตให้ตัวเอง พรรคก้าวไกลจึงถูก ส.ว.เอาคืนแบบไม่จำเป็นต้องเกรงใจ 

อ่านสัญญาณ ส.ว.สายทหาร สายสืบทอดอำนาจ คนกลุ่มเก่า ตั้งแต่ ส.ว.ลากตั้งก่อนการรัฐประหาร 2557 จนเป็น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ - สภาปฏิรูปแห่งชาติ– สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พลิกกลับมาเป็น ส.ว.ลากตั้งอีกรอบ

ขณะนี้ ส่วนใหญ่ “คว่ำ” มากกว่ายกมือหนุน “พิธา” เพราะคนกลุ่มนี้เหลืออายุอยู่ในสภาไม่ถึงปี จะโหวต – จะคว่ำ ไม่มีอะไรจะเสีย 

กิตติศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา.jpg

ปมที่สอง วิกฤตหุ้นสื่อไอทีวีของ “พิธา” แม้ช่วงนี้เรื่องจะค่อยๆ ซา หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ ยก 3 คำร้อง ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นไอทีวีไปทั้งหมด อ้างเหตุผลทางเทคนิคกฎหมาย ที่ “นักร้องการเมือง” ยื่นคำร้องเกินเวลาที่กำหนด 

แต่ กกต. รับไว้เป็น “เรื่องปรากฏ” กรณีรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.แต่ยังคงลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 

ซึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเรื่องการห้ามถือหุ้นสื่อไว้อยู่ในมาตรา 98(3) ซึ่งว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”

กกต.ตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมา 1 คณะ ให้เวลาสอบสวน 20 วัน โดยตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. และขยายต่อได้อีกครั้งละ 15 วันหากยังทำไม่เสร็จ ปรากฏว่า กกต. มีการประชุมลับของ กกต.โดยคณะกรรมการไต่สวนของสำนักงาน กกต. ที่รับผิดชอบคดี “พิธา” ได้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุม กกต. และขอขยายเวลา และเตรียมเรียก “พิธา” มาให้ข้อมูลแก้ต่าง 

พิธา ชัยธวัช ก้าวไกล รัฐสภา _6653.jpeg

เทียบไทม์ไลน์ คร่าวๆ กกต. ตั้งคณะกรรมการไต่สวน 9 มิ.ย. ให้เวลา 20 วัน ครบกำหนดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.และขอต่ออายุอีก 15 วัน วันสุดท้ายจะตกประมาณวันที่ 13 ก.ค.นี้ ก่อนวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเพียง 2 วัน หากเทียบกับปฏิทินการเมืองที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี รายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ 

โดยคาดการณ์วันโหวตนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา คือ วันที่ 15 ก.ค.นี้ 

หากคณะกรรมการไต่สวน มีมติเพียงแค่ “เป็นลบ” ต่อ “พิธา” ชงเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กกต. ยังไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพียงเท่านี้ก็เป็นเหตุให้ ส.ว. “งดโหวต” พิธาได้แล้ว 

เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) เรื่องถือหุ้นสื่อ เป็น “คุณสมบัติต้องห้าม” ของ ส.ส. ยังเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160(6)

ปมที่สาม ประเด็นแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 หากไม่ใช่ “วาทกรรม” ของ ส.ว.ที่แปะป้ายข้อกล่าวหาไปยังพรรคก้าวไกล 

สถานะของ “พิธา” ที่ต้องลุ้นที่สุดคงอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ

ซึ่งมาจากเหตุที่ ”ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ร้องต่ออัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 30 พ.๕. ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่ง “พิธา” และพรรคก้าวไกล ให้เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

แต่ต่อมาอัยการสูงสุดยังไม่ได้ดำเนินการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา

พิธา สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ -8707-40BD-8DBE-A51940056077.jpeg

“ธีรยุทธ” จึงใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 49 วรรคสอง ว่า การกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้สอบถามอัยการสูงสุด ว่า มีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการคำร้องดังกล่าว โดยให้แจ้งต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ ดังนั้นมาตรา 112 จะรู้เรื่องก่อนวันโหวตนายกฯ เพียงไม่กี่วันอีกเช่นกัน

นี่คือ 3 ปมร้อน สกัด “พิธา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30