ไม่พบผลการค้นหา
คนดังในวงการเมืองโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กหลังเกิดกรณี ผู้กำกับ สภ.ทองผาภูมิ มีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์พนักงานสอบสวนที่ไปรับแจ้งความนายเปรมชัย ทารุณกรรมสัตว์ ทั้งที่ไม่เข้าข่ายนิยามของข้อกฎหมาย อ้างเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้แน่ชัด โดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบราชการตำรวจใหม่

เริ่มจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Srisutthiyakorn Somchai ว่าได้ติดตามดูข่าว "เสือดำ" มาตั้งแต่แรก ถึงประเด็นที่ผู้ฆ่าเสือดำพ้นข้อหาทารุณกรรมสัตว์ เพราะไม่มีข้อกล่าวหา และกฎหมายไม่มีการกำหนดว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติหมายถึงสัตว์อะไรบ้าง เพราะรัฐมนตรียังไม่ได้ประกาศ และเมื่อนับตั้งแต่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 26 ธ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 3 ปีกว่า เปลี่ยนรัฐมนตรีมา 3 คน แต่แค่ประกาศที่รัฐมนตรีจะลงนามเพื่อระบุว่า "สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ" หมายถึงสัตว์ใด ยังไม่สามารถประกาศได้ 



สมชัย.jpg

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร

ทั้งนี้ นายสมชัย อยากให้ผู้ที่บอกว่าจะเข้ามาปฏิรูปราชการ ปฏิรูปการเมือง ช่วยชี้แจงว่าขณะนี้บ้านเมืองเดินถึงจุดไหนแล้ว

ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กเช่นกัน โดยตั้งข้อสังเกตถึงคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์นี้ไว้ 3 ประเด็นคือ 1. เมื่อมีประชาชนไปแจ้งความร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่พิจารณาเบื้องต้นว่าเป็นการแจ้งโดยสุจริต และมีความเป็นไปได้ที่จะมีความผิดตามกฎหมายตามที่ร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ย่อมจะต้องรับคำร้องไว้ก่อน อีกทั้งผู้แจ้งความเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลกฎหมายเฉพาะ และร้องทุกข์เกี่ยวกับกฎหมายเฉพาะที่ตนเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ จึงย่อมมีความน่าเชื่อถือมากพอที่จะรับคำร้องไว้ และสุดท้ายผู้ที่แจ้งความขอถอนคำร้องในภายหลัง เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ซับซ้อน ถึงแม้การกระทำจะเป็นความผิดทั่วไปที่ระบุไว้ในกฎหมาย แต่ก็จำเป็นต้องขอถอนคำร้อง เนื่องจากรัฐมนตรีไม่ได้ทำงานแบบเอาใจใส่ ถึงแม้ตรากฎหมายตั้งแต่ปี 2557 แต่รัฐมนตรียังไม่ประกาศกำหนดชนิดสัตว์เพื่อให้เข้าตามนิยาม และในฐานะผู้รับแจ้งความในพื้นที่ย่อมจะไม่สามารถรู้ได้



ธีระชัย.jpg

นายธีระชัย ภูวนาถนราฤบาล

โดยนายธีระชัย สงสัยว่าคำสั่งลงโทษดังกล่าวออกมาภายหลังจากที่ตำรวจระดับสูงผู้คุมสำนวน กล่าวกับสื่อว่าจะตรวจสอบผู้ที่แจ้งความข้อหานี้ และมองว่าการกระทำนี้เหมือนการเขียนเสือให้วัวกลัว เพื่อห้ามปรามการขยายวงข้อหาความผิด และเป็นการส่งสัญญาณให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องอย่าล้ำเส้น

ส่วนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับการแจ้งความไว้ว่าเวลาที่เดินทางไปแจ้งความกับตำรวจ ไม่ต้องระบุข้อหา เพียงแค่เล่าข้อเท็จจริงให้ตำรวจฟังว่าเกิดอะไรขึ้น ทางเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ปรับข้อเท็จจริงให้เข้ากับข้อกฎหมายเอง เพราะเราไม่สามารถรู้กฎหมายได้ทุกฉบับ



นิพิฏฐ์ โวยสังคมเผด็จการห้ามนักการเมืองคุยกัน

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

ทั้งนี้การโพสต์เฟซบุ๊กของทั้ง 3 คนเกิดภายหลังจาก พ.ต.อ. วุฒิพงษ์ เย็นจิตร ผู้กำกับ สภ.ทองผาภูมิ ทำหนังสือคำสั่ง ลงวันที่ 28 ก.พ. 2561 เรื่องการลงโทษภาคทัณฑ์ โดยคำสั่งระบุว่า ตามที่นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี มาแจ้งความเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2561 ให้ดำเนินคดีกับนายเปรมชัย กรรณสูต และพวก ในความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์ โดยไม่มีเหตุอันควร และได้รับคำร้องไว้

แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2561 นายณรงค์ชัย เข้าพบ ร.ต.อ.สุมิตร บุญยะนิจ พนักงานสอบสวน พร้อมกับให้ปากคำเพิ่มเติมไปตรวจสอบคำนิยามของคำว่า สัตว์ ตามมาตรา 3 แล้ว ปรากฏว่า รัฐมนตรียังไม่ได้ประกาศกำหนดสัตว์ตามธรรมชาติ ว่าต้องเป็นสัตว์ชนิดใด จึงขอถอนคำร้องทุกข์ไป 

ฉะนั้น อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2547 มาตรา 89 ประกอบกับกฎ ก.ตร. ว่าด้วยอำนาจการลงโทษข้าราชการตำรวจ อัตราโทษและการลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน พุทธศักราช 2547 จึงให้ลงโทษภาคทัณฑ์ ร้อยตำรวจเอกสุมิตร บุญยะนิจ 

ทั้งนี้ ผู้ถูกลงโทษตามคำสั่งนี้ มีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชา หรือ ก.ตร. แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธสักราช 2547 และหากประสงค์จะฟ้องโต้แย้งคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ ให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลปกครอง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครอง ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง หรือรับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือภายใน 30 วัน นับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์

ด้าน พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีลงโทษพนักงานสอบสวนที่รับแจ้งข้อกล่าวหาทารุณกรรมสัตว์ ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าไม่มีข้อกล่าวหาแล้วไปรับร้องทุกข์ จึงถือว่าผิด พ.ร.บ.ตำรวจ มาตรา 78 (1) อีกทั้งผู้รักษากฎหมายต้องรู้ข้อกฎหมาย จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการดำเนินการ ผิดว่าไปตามผิด ไม่มีการช่วยเหลือกันแน่นอน พร้อมยืนยันว่าการทำสำนวนไม่ล่าช้า เพียงแต่สำนวนเหลือผลพิสูจน์เนื้อสัตว์ จากกรมอุทยานแห่งชาติฯ ถ้าผลการตรวจพิสูจน์สรุปออกมาเป็นทางการ เจ้าหน้าที่จะรีบสรุปสำนวน

เปรมชัย กรรณสูตกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)