ไม่พบผลการค้นหา
การฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงหรือแสดงจุดยืนต่อสังคม เป็นความเคลื่อนไหวหนึ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 แต่นักวิจัยชี้ว่า การสละชีวิต ต่างจากแนวคิด 'พลีชีพ' และไม่ใช่ทุกสังคมที่จะหันมาใส่ใจประเด็นที่ผู้สละชีวิตต้องการสื่อสาร

'ไมเคิล บิกส์' รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด เผยแพร่ผลงาน HOW REPERTOIRES EVOLVE: THE DIFFUSION OF SUICIDE PROTEST IN THE TWENTIETH CENTURY เอาไว้ตั้งแต่ปี 2556 โดยเป็นการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ 'การสละชีวิตตัวเองเพื่อการประท้วง' หรือ self immolation ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งอาจเรียกสั้นๆ อีกอย่างได้ว่า 'การฆ่าตัวตายประท้วง' หรือ suicide protest 

ผลวิจัยของบิกส์อธิบายว่า การสละชีวิตตัวเองไม่ได้จำกัดวิธีการ แต่สื่อตะวันตกหลายสำนักมักโยงคำนี้กับ 'การเผาตัวเอง' เพราะมีการใช้คำว่า self immolation เรียกการเผาตัวเองของพระชาวเวียดนามที่ต่อต้านสงครามเวียดนามในอดีต รวมไปถึงการเผาตัวเองของ 'พระทิเบต' และประชาชนชาวทิเบตอีกกว่าร้อยคน ที่เคยเป็นข่าวใหญ่ในโลกตะวันตกช่วงปลายปี 2555 จนถึงต้นปี 2556

บิกส์ระบุด้วยว่า การคว้านท้องตัวเองของซามูไรญี่ปุ่นในอดีต (seppuku) ก็เป็นการสละชีวิตประท้วงหรือแสดงจุดยืนของตัวเองเช่นกัน ซึ่งสารานุกรม Britanica ระบุว่า ซามูไรญี่ปุ่นใช้วิธีนี้แสดงเจตจำนงและความกล้าหาญเพื่อกำหนดวาระสุดท้ายของตัวเอง ขณะที่ผู้หญิงจากตระกูลชนชั้นสูงจะใช้วิธีเชือดคอตาย หรือ jigai เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง

AFP-ชาวทิเบตรำลึกถึงพระและประชาชนในทิเบตที่เผาตัวเองประท้วงรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่-3
  • ผู้ชุมนุมรำลึกถึงพระและประชาชนทิเบตที่ฆ่าตัวตายประท้วงจีน

ปัจจัยที่บิกส์ใช้จำแนกว่าการฆ่าตัวตายแบบใดสามารถเรียกได้ว่าเป็น 'การสละชีวิตประท้วง' มี 4 ประการ คือ

1. ผู้ฆ่าตัวตายตั้งใจที่จะจบชีวิตตัวเอง ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง

2. ผู้ฆ่าตัวตายไม่มีเจตนาทำร้ายหรือทำอันตรายผู้คนและทรัพย์สินอื่นๆ

3. ใช้วิธีการฆ่าตัวตาย 2 แบบ โดยแบบแรก คือ การกระทำต่อหน้าผู้อื่นในที่สาธารณะ กับแบบที่สอง ฆ่าตัวตายโดยทิ้งจดหมายหรือแถลงการณ์แสดงเจตจำนงถึงบุคคลที่มีอำนาจในสังคม หรือกล่าวถึงสังคมโดยตรง

4. การฆ่าตัวตายมีจุดมุ่งหมายเพื่อสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวหรือเรื่องในครอบครัว


ความตาย 'แตกต่างกันไป'

ผลวิจัยของบิกส์จำแนกว่า การสละชีวิตตัวเองประท้วง (self immolation หรือ suicide protest) แตกต่างจากการฆ่าตัวตายทั่วๆ ไป (suicide) ที่เกิดจากเหตุผลส่วนตัวหรือเกิดจากคนใกล้ชิดรอบๆ ตัว และแตกต่างจากการฆ่าตัวตายเพื่อโจมตีผู้อื่น (suicide attack) ซึ่งสังคมบางแห่งมองว่าเป็น 'การพลีชีพ' แต่บิกส์มองว่า วิธีนี้พุ่งเป้าทำร้าย หรือมุ่งหมายชีวิตของคนอื่นมากกว่าตัวเอง

นอกจากนี้ บิกส์ยังระบุด้วยว่า การสละชีวิตตัวเองประท้วง แตกต่างจากความตายในแบบ 'มรณสักขี' หรือ martyr/ martyrdom เพราะกรณีนี้มักเป็นการตายจากฝีมือผู้อื่น แต่ผู้ตายจะถูกคนที่ยังอยู่ ยกให้เป็น 'ประจักษ์พยาน' แห่งความเป็นจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงแตกต่างจากการฆ่าตัวตายหมู่เพื่อความเชื่อของลัทธิใดลัทธิหนึ่ง (cultic suicide) เพราะการฆ่าตัวตายด้วยวิธีนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากแรงกดดันและบีบบังคับเหล่าสาวกให้ยอมทำตาม

อย่างไรก็ตาม บิกส์มองว่า การอดอาหารประท้วง (hunger strike) ไม่ถือเป็นการสละชีวิตประท้วง และไม่นับเป็นการฆ่าตัวตาย แต่ถือเป็นการประท้วงโดยใช้ชีวิตและความตายเป็นเครื่องมือต่อรอง เพราะผู้ประท้วงด้วยวิธีนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจจะจบชีวิตตัวเอง

บิกส์ระบุด้วยว่า ผู้ตัดสินใจสละชีวิตประท้วงจะไม่ต่อรอง แต่จะฆ่าตัวตายอย่างฉับพลันทันที หรือใช้วิธีที่แน่ใจว่า ไม่มีใครสามารถช่วยเหลือได้ทัน อย่างไรก็ตาม บิกส์ไม่ได้กล่าวยกย่องหรือสนับสนุนการฆ่าตัวตายประท้วง แต่ศึกษาเรื่องนี้ในฐานะ 'นักสังคมวิทยา' ซึ่งเห็นว่าวิธีการนี้ถูกใช้เพื่อแสดงเจตจำนงของบุคคลต่อสังคม และเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม


ตายเพื่อเปลี่ยนแปลง เกิดได้เมื่อสังคม 'ใส่ใจ' รับลูกต่อ

การสละชีวิตประท้วงที่มีคนรับรู้มากที่สุดในสังคมไทย น่าจะได้แก่ การยิงตัวตายของ 'สืบ นาคะเสถียร' หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง เพื่อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจัง เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2533 และกรณี 'นวมทอง ไพรวัลย์' ซึ่งตัดสินใจจบชีวิตตัวเองที่สะพานลอยใกล้กับที่ทำการหนังสือพิมพ์เก่าแก่ของไทยบนถนนวิภาวดีฯ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2549 พร้อมทิ้งจดหมายยืนยันว่าการตายของเขาอุทิศให้กับอุดมการณ์ต่อต้านรัฐประหาร

ล่าสุด กรณีผู้พิพากษา 'คณากร เพียรชนะ' ที่จากไปเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2563 พร้อมข้อความสะท้อนภาพบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไทย ก็น่าจะเข้าข่ายการสละชีวิตประท้วงในงานวิจัยของบิกส์เช่นกัน

ไว้อาลัยผู้พิพากษา
  • กิจกรรมรำลึกถึงผู้พิพากษา 'คณากร เพียรชนะ' จัดขึ้นที่ มธ.เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2563

กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า การสละชีวิตประท้วงของคนในสังคมต่างๆ จะกลายเป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงหรือเปลี่ยนแปลงในสังคมเสมอไป ก่อนหน้านี้ บิกส์เคยแลกเปลี่ยนกับนักวิชาการในสหรัฐอเมริกา และนักเคลื่อนไหวเพื่อชาวทิเบต ผ่านทางสถานีวิทยุ NPR เพื่อหาข้อสรุปว่า การฆ่าตัวตายประท้วงด้วยการจุดไฟเผาตัวเองของพระและประชาชนทิเบตเมื่อปี 2555-2556 มีผลขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่พวกเขาสละชีวิตให้หรือไม่

บิกส์มองว่า การเผาตัวเองประท้วงของชาวทิเบตกว่าร้อยคนในช่วงดังกล่าว ไม่ใช่การสื่อสารไปถึงประเทศตะวันตก แต่น่าจะพุ่งเป้าถึงรัฐบาลจีนและคนในสังคมจีน เพราะประเทศตะวันตกเห็นอกเห็นใจและต้อนรับ 'ดาไลลามะ' ผู้นำจิตวิญญาณพลัดถิ่นชาวทิเบต เป็นอย่างดีมาโดยตลอด แต่การยอมรับของประเทศตะวันตกไม่มีผลเปลี่ยนแปลงต่อชะตากรรมชาวทิเบตที่อยู่ในเขตปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่

ขณะที่โรเบิร์ต บาร์เน็ต นักวิชาการด้านทิเบตศึกษา มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การเผาตัวตายของพระและประชาชนทิเบตในช่วงปีนั้น เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับที่รัฐบาลจีนปรับเปลี่ยนนโยบายทางสังคม ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการนับถือศาสนาของชาวทิเบตในจีน จึงมีการเคลื่อนไหวทางสังคมเกิดขึ้น

บาร์เน็ตมองว่า การสละชีวิตประท้วงของพระและประชาชนชาวทิเบตผูกโยงกับแนวคิดทางพุทธศาสนาในทิเบต ที่มองว่า "การอุทิศตนเองเพื่อคุณธรรมเป็นเรื่องชอบธรรม" แต่การตอบโต้ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนที่มีต่อเรื่องนี้ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะชาวทิเบตหลายคนที่ให้การช่วยเหลือ หรือแสดงความเห็นสนับสนุนการสละชีวิตประท้วง ตกเป็นเป้าเพราะรัฐบาลจีนเพ่งเล็ง บางคนถูกจับกุม-ดำเนินคดี ข้อหายุยงปลุกปั่น ก่อความไม่สงบ

 AFP-ชาวทิเบตรำลึกถึงพระและประชาชนในทิเบตที่เผาตัวเองประท้วงรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่-2
  • ชาวทิเบตพลัดถิ่นในสหรัฐฯ จุดเทียนรำลึกถึงผู้ประท้วงที่เสียชีวิต

ด้วยเหตุนี้ การสละชีวิตของชาวทิเบตเพื่อประท้วงจีน 'ยังไม่ได้ผล' เพราะจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังมีการเรียกร้องสิทธิในการใช้ชีวิตและนับถือศาสนาของชาวทิเบตในจีนอยู่อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสิ่งที่บิกส์และบาร์เน็ตพูดถึงผ่าน NPR ว่า การสละชีวิตประท้วงจะได้ผลก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคม 'ไม่เพิกเฉย' ต่อข้อเรียกร้องของผู้ฆ่าตัวตาย


ความตายที่จุดชนวนการเคลื่อนไหวไปทั่วโลก

แม้การสละชีวิตประท้วงในบางเรื่องจะยังไม่ได้ผล แต่ก็มีกรณีที่สร้างแรงสะเทือนไปทั่วโลกให้เห็นกันอยู่บ้าง โดย TIME สื่อเก่าแก่ของสหรัฐฯ ได้รวบรวมข้อมูลไว้ในบทความ A Brief History of Self-Immolation ที่เผยแพร่เมื่อปี 2554 โดยระบุว่า พระชาวเวียดนามในสมัยสงครามเวียดนามกลายเป็นต้นทางของการสละชีวิตประท้วงในช่วงศตวรรษที่ 20

พระเวียดนามจำนวนมากจุดไฟเผาตัวตาย โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ทั่วโลกหันมาใส่ใจชะตากรรมของชาวเวียดนาม ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ในขณะนั้น และตกอยู่ในสงครามห้ำหั่นระหว่างฝ่ายสนับสนุนคอมมิวนิสต์กับฝ่ายที่อ้างอิงแนวคิดประชาธิปไตย 

การเผาตัวตายประท้วงของพระเวียดนามถูกรายงานผ่านสื่อตะวันตกจำนวนมาก จึงสามารถส่งสารไปยังผู้คนในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เแม้จะไม่ได้ส่งผลต่อรัฐบาลที่มีส่วนร่วมในสงครามในระยะแรก แต่ก็ทำให้เกิดแรงกดดันในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนจำนวนมากเดินขบวนและรณรงค์ต่อต้านสงครามในหลายประเทศ จนกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้สถานการณ์หันเหไปสู่การเจรจายุติสงครามและถอนทัพ

TIME ยังกล่าวถึงการจุดไฟเผาตัวเองของ 'โมฮัมหมัด บูอาซิซี' พ่อค้าผลไม้ชาวตูนีเซีย เมื่อเดือน ธ.ค.2553 เพื่อประท้วงความล้มเหลวของรัฐบาลเผด็จการที่ครองอำนาจยาวนาน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และภาวะว่างงานในประเทศได้

การลงมือของโมฮัมหมัดกลายเป็นชนวนให้ประชาชนอีกเป็นจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ผู้นำเผด็จการตูนีเซียเมื่อปี 2554 ซึ่งถูกมองว่าเป็นชนวนเหตุของ 'อาหรับสปริงส์' ที่ประชาชนอีกหลายประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือลุกฮือประท้วงรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปครั้งใหญ่

ฮ่องกงประท้วงร่าง ก.ม.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน-จี้แคร์รี่ หล่ำลาออก-14.jpg
  • ผู้ชุมนุมฮ่องกงไว้อาลัยผู้ฆ่าตัวตายระหว่างการประท้วงต่อต้านจีน

นอกจากนี้ยังมีการสละชีวิตประท้วงในประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องประเด็นแรงงาน โดยผู้ที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากในสังคมเกาหลีใต้ คือ 'ชอนแทอิล' ชายหนุ่มวัย 22 ปีที่จุดไฟเผาตัวเองในวันที่ 13 พ.ย. 2513 เพื่อประท้วงสภาพการทำงานอันย่ำแย่ในโรงงานสิ่งทอแห่งหนึ่งในกรุงโซลขณะนั้น และความตายของ 'ชอนแทอิล' นำไปสู่ข้อเรียกร้องด้านการปรับปรุงสภาพการทำงานของแรงงาน และเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการถกเถียงเรื่องสิทธิและสวัสดิการแรงงาน

สมาชิกสหภาพแรงงานหลายรายในเกาหลีใต้ยุคหลังก็ใช้วิธีจุดไฟเผาตัวเองประท้วงกฎหมายแรงงาน และความล้มเหลวของรัฐในการแก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานด้านต่างๆ และทุกวันนี้ สังคมเกาหลีใต้ยังรำลึกถึงการสละชีวิตของชอนแทอิล โดยปีที่แล้ว ประธานาธิบดีมุนแจอิน ผู้นำเกาหลีใต้ ได้ให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงด้านสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมเกาหลีใต้ระหว่างพิธีรำลึกวันครบรอบ 49 ปีการเสียชีวิตของชองแทอิลอีกด้วย

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในปี 2562 คือ สมาชิกครอบครัวอดีตแรงงานบังคับชาวเกาหลีใต้ที่เคยถูกละเมิดสมัยญี่ปุ่นเป็นเจ้าอาณานิคม จุดไฟเผาตัวเองประท้วงบริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่ระบุว่าจะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่อดีตแรงงานบังคับตามคำวินิจฉัยของศาลในเกาหลีใต้

ส่วนการประท้วงฮ่องกงเมื่อปีที่แล้วซึ่งเป็นการต่อต้านการแทรกแซงของรัฐบาลจีน รวมถึงเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อให้ครอบคลุมสิทธิการเลือกตั้งผู้บริหารฮ่องกงโดยตรง ก็มีผู้ประท้วงอย่างน้อย 3 ราย ตัดสินใจฆ่าตัวตายแสดงเจตจำนงของตัวเองเช่นกัน

(หมายเหตุ: เพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วนเมื่อวันที่ 10 มี.ค. และ 12 ส.ค. 2563)

ภาพปก: แรงงานชาวเกาหลีใต้ที่ทำงานให้บริษัทฮุนไดจุดไฟเผาตัวเองต้าน ก.ม.แรงงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: