ไม่พบผลการค้นหา
อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย จี้รัฐตรวจสอบโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ของ อปท. 7,852 แห่ง ภายใต้การกำกับ มท. มูลค่า 1.78 แสนล้านบาท ชี้ 5 ข้อสังเกตอาจเข้าข่ายทุจริตเชิงนโยบาย ใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ยกเว้นทำอีไอเอ-ยกเว้นปฏิบัติตามกฎหมายผังเมือง

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ความสำคัญติดตามโครงการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร เพื่อแปรรูปผลิตพลังงานหรือโรงไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 7,852 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งใช้งบประมาณมหาศาล จำนวน 178,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณของรัฐ 94,600 ล้านบาท และการลงทุนจากภาคเอกชน จำนวน 84,000 ล้านบาท ว่าส่อมีการทุจริตโครงการ ฯ หรือไม่

ทั้งนี้ มีข้อสงสัยหรือข้อพิรุธว่าอาจจะมีการทุจริตเชิงนโยบาย หรือไม่ กล่าวคือ

1. ครม.มีมติให้การบริหารจัดการขยะ ซึ่งแต่เดิมมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่น ได้ปรับเปลี่ยนมาให้กระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลจังหวัดและ อปท.ในการจัดทำแผนการบริหารจัดการและแผนปฏิบัติการเพื่อขอตั้งงบประมาณรายปีในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย

2. มีการจัดตั้งองค์กรเป็นการภายในที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มท. เพื่อพิจารณาโครงการศูนย์กำจัดขยะ ฯ ขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ ขึ้นตรงต่อ มท.

3. มีข้อสังเกตว่า เหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 งดเว้นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และยกเว้นกฎหมายผังเมือง ทั้ง ๆ ที่การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญยิ่งสำหรับโครงการที่อาจมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกับประชาชน ซึ่งหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ผู้ใช้มาตรา 44 จะรับผิดชอบอย่างไร 

4. มีข้อสังเกตว่า สื่อมวลชนออสเตรเลีย 'ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮรัลด์' ได้เสนอข้อมูลเชิงลึกถึงเหตุผลในการย้ายนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เพราะปกป้องงบประมาณของทางราชการด้วยการไม่เห็นชอบโครงการที่ไม่ถูกต้องหลายโครงการ และหนึ่งในหลายโครงการมีโครงการกำจัดขยะของจังหวัดเชียงราย รวมอยู่ด้วย 

โดยโครงการศูนย์บริหารจัดการขยะและเตาเผาขยะ มูลค่า 12 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จะสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้มีการฟังความเห็นของชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งอาจจะใช้งานไม่ได้อีกด้วย เพราะตั้งแต่สร้างมาไม่ได้ใช้งานแต่อย่างใด  

5. มีสื่อบางฉบับมีข้อสงสัยว่ากรณี รมว.มหาดไทย ปฏิเสธว่า ลูกชายตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะ ของกระทรวงมหาดไทย แต่เหตุใดลูกชายรมว.มหาดไทย จึงมีนัดหมายพบผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา แม้ รมว.มหาดไทย จะออกมาปฏิเสธแทนลูกชายว่าไม่ได้พบกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แต่นัดหมายดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซด์ ได้กระจายไปทั่วแล้ว 

แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จะตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ลบนัดหมายไปแล้ว และจำภาพคนมาพบไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นข้อน่าสงสัยมากยิ่งขึ้น เพราะการนัดหมายผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละวันมีข้อราชการสำคัญ ต้องผ่านการกลั่นกรองจากเลขานุการ และได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจึงจะลงนัดหมายได้ ยิ่งเป็นการนัดหมายจากลูกชาย รมว.มหาดไทย แล้ว จะลงนัดหมายหลวม ๆ โดยมิได้ตรวจสอบความถูกต้องไม่มีทางเป็นไปได้ในโลกของความเป็นจริง    

ทั้งนี้ ทั้ง 5 ข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ในชั้นนี้ ยังเป็นเพียงข้อสงสัย หรือข้อพิรุธ ยังมิได้กล่าวหาว่า รมว.มหาดไทย หรือผู้ใดทุจริตในโครงการกำจัดขยะ  

อีกทั้ง จากข้อมูลเพียงส่วนหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าเป็นช่วงการเมืองปกติ รมว.มหาดไทย ก็คงถูกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว เพื่อเป็นตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไป ตรงมา โดยมีเหตุผลสำคัญเพื่อรักษางบประมาณแผ่นดินของชาติให้ใช้ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด

ประการสำคัญ สังคมคงอยากเห็น นายกรัฐมนตรีซึ่งให้ความสำคัญกับนโยบายการปราบปรามการทุจริต ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารจัดการโครงการกำจัดขยะของมหาดไทย ว่ามีการดำเนินการที่ส่อว่ามีการทุจริตในขั้นตอนใดหรือไม่ โดยเฉพาะการตรวจสอบว่าลูกชาย รมว.มหาดไทยอาศัยอำนาจ และบารมีของบิดาเข้าไปทำธุรกิจโครงการกำจัดขยะจริงหรือไม่ 

นอกจากนี้ สังคมคงอยากเห็น ป.ป.ช.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระทำงานเชิงรุก ด้วยการลงไปตรวจสอบและให้คำแนะนำโครงการใหญ่ทั้งระบบที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และลงไปตรวจโครงการย่อยที่จังหวัดเชียงราย ว่าโครงการก่อสร้างเสร็จแล้ว ใช้งานไม่ได้ จริงหรือไม่ ป.ป.ช.ก็จะได้ชื่อว่าเอาจริงกับการปราบปรามการทุจริต ไม่สองมาตรฐาน ความเชื่อมั่นด้านการปราบปรามการทุจริตก็จะฟื้นกลับคืนมา

ด้าน ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นโครงการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรเพื่อแปรรูปผลิตพลังงานหรือโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก ดังนั้นโครงการนี้ควรจะเป็นที่พึ่งของประชาชนในการแก้ไขปัญหาขยะและลดมลพิษ แต่กลับแปรผันกลายเป็นว่า ปัจจุบันชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จากบ่อขยะที่ส่งกลิ่นเหม็น น้ำที่เน่าเสีย ทำให้เกิดมลภาวะและมลพิษ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางเกษตร และบั่นทอนสุขภาพของชาวบ้าน

เหตุดังกล่าวก่อให้เกิดการร้องเรียนต่อหน่วยงานในหลายจังหวัด แต่ภาครัฐยังไม่มีผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด นายกรัฐมนตรีจึงใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 งดเว้นการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะเรื่องโรงงานขยะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับชุมชน เพราะฉะนั้นประชาชนควรจะมีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ และควรจะดำเนินการจัดทำ EIA ให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :