“ประเทศที่รัฐฆ่าคน แล้วแมร่งไม่เห็นหัวเด็ก” เนื้อร้องท่อนหนึ่งของ Elevenfinger แร็ปเปอร์ไทยวัย 17 ปี ในเพลง ‘ความเท่าเทียม’ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทย ที่พัฒนาไม่เทียบเท่าภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม โดยมีผลวัดระดับสากลที่บ่งชี้ว่าการศึกษาไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ ของเอเชีย
Elevenfinger เป็นหนึ่งในแร็ปเปอร์รุ่นใหม่ที่หันมาถ่ายทอดประเด็นทางการเมืองผ่านไรห์มของตัวเอง โดยสำนักข่าวฝรั่งเศส เอเอฟพี ระบุว่า วงการฮิปฮอปไทยได้ถอดแบบความจัดจ้านและคำสบถมาจากต้นแบบในสหรัฐฯ ยกเว้นการพูดเรื่องการเมืองทว่าตอนนี้แรปเปอร์รุ่นใหม่หันมาแต่งเนื้อร้องสะท้อนสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะชีวิตภายใต้รัฐบาลเผด็จการ และตั้งคำถามกับวัฒนธรรมลำดับชั้นของไทย ซึ่งครอบงำสังคมมาตั้งแต่ระบบการศึกษา
เอเอฟพี ระบุว่า การศึกษาไทยเน้นการสอนโดยระบบท่องจำ สร้างวัฒนธรรมการเคารพตามลำดับอายุ ชนชั้น และฐานะ โดยยังมีกฎระเบียบเคร่งครัดแบบทหารควบคุมตั้งแต่ความยาวของเส้นผมนักเรียน ไปจนถึงเนื้อหาบางส่วนในบทเรียน ซึ่งทำให้เด็กไทยอาจมีปัญหาเรื่องทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา
“คนไทยไม่ถูกสอนให้มีความคิดวิพากษ์” Jacoboi ผู้ก่อตั้งกลุ่มแร็ปการเมือง ‘Rap Against Dictatorship’ เจ้าของบทเพลง ‘ประเทศกูมี’ ซึ่งมียอดวิวกว่า 30 ล้านวิว ระบุว่า แร็ปเปอร์ไทยในอดีตเป็นผลพวงจากระบบการศึกษาดังกล่าว ทำให้ไม่ค่อยมีบทเพลงที่พูดถึงเรื่องสังคมหรือวิจารณ์การเมืองมากนัก
ทว่าวิกฤตการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมและกษัตริย์นิยมของไทย และการตื่นตัวของคนรากหญ้าที่ภักดีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นเศรษฐีหมื่นล้าน ส่งผลให้เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง และการประท้วงนองเลือดบนถนนนับครั้งไม่ถ้วน
ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้คนไทยรุ่นก่อนๆ เหนื่อยหน่ายกับการเมือง แต่กลับจุดเชื้อไฟในหมู่คนรุ่นใหม่ที่รู้สึกอึดอัดกับชนชั้นปกครองวัยอาวุโส โดยเฉพาะรัฐบาลทหารในปัจจุบันที่โหมกระแสความไม่พอใจอย่างต่อเนื่องจากการที่พวกเขาพยายามปิดกั้นผู้เห็นต่าง
“คนรุ่นใหม่รู้สึกอึดอัด และอยากจะระบายความไม่พอใจกับการสอนเรื่องลำดับชั้น (hierarchy) กรอบทางสังคม และคำสั่งให้เป็น ‘เด็กดี’ ซึ่งแร็ปได้มอบพื้นที่ให้พวกเขาได้ขบถ” อนุสรณ์ อุณโณ นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยกับ เอเอฟพี
อย่างไรก็ดี วันนี้เพลงแร็ปได้เข้าใกล้เยาวชนมากขึ้น Elevenfinger ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนมัธยมศึกษาของรัฐแห่งหนึ่ง ได้เปิดชุมนุมฮิปฮอปขึ้น โดยฝึกให้นักเรียนชั้นม.ต้นใช้เพลงแร็ปตั้งคำถามกับเรื่องรอบตัว
เด็กๆ แต่งเพลงแร็ปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียน รักไม่สมหวัง ไปจนถึงประเด็นหนักๆ เช่น ชีวิตที่ได้เติบโตในสลัม และการกลั่นแกล้งในโรงเรียน (bullying) โดย Elevenfinger ระบุว่าเขาต้องการพัง ‘กำแพงทางการศึกษา’ โดยให้คาบเรียนดังกล่าวเปรียบเสมือนมุมปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ให้ได้คิดและแสดงออกอย่างมีอิสระ
ทั้งนี้ ขณะที่ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงแห่งการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต้นปีหน้า ความไม่พอใจต่อรัฐบาลทหารได้กระเพื่อมอยู่ในวัฒนธรรมย่อย (subcultures) อย่างฉุดไม่อยู่ เช่น วงพังค์ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง และศิลปินกราฟิตี้ที่วาดภาพล้อเลียนเศรษฐีและผู้มีอำนาจ
แต่กระแสแร็ปได้นำพาบทวิพากษ์สังคมสู่กระแสหลัก และด้วยความสำเร็จของ ‘ประเทศกูมี’ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากระแสดังกล่าวจะดำเนินต่อไป โดยนักวิชาการอย่างอนุสรณ์ ระบุว่า แร็ปอาจเป็นจุดเปลี่ยนให้ประเทศไทย ที่อาจช่วย 'ทำลายอำนาจนำแบบเก่า และสร้างความเป็นไปได้ทางวัฒธรรมใหม่ๆ'
อย่างไรก็ดี ศิลปินแร็ป ‘ประเทศกูมี’ ที่ร้องเพลงต่อต้านเผด็จการอาจจะยังมีความเสี่ยง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยขู่จะใช้กฎหมายใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดำเนินคดีฐานเผยแพร่ ‘ข้อมูลเท็จ’
“ผมก็กลัวเจ้าหน้าที่นะครับ” K.Aglet แร็ปเปอร์อายุน้อยที่สุดของกลุ่ม Rap Against Dictatorship กล่าว “แต่ผมสามารถยืนยันว่านี่คือมุมมองของผมต่อประเทศนี้ นี่เป็นความจริงของผม และผมก็จะแร็ปต่อไป”