ไม่พบผลการค้นหา
เปิดมุมมองแร็ปเปอร์ชื่อดังของเมืองไทยต่อ ‘ประเทศกูมี’ เพลงทรงอิทธิพลในเวลานี้

ศิลปินกลุ่ม RAP AGAINST DICTATORSHIP โด่งดังเป็นพลุแตก หลังระบายความอึดอัด สะท้อนปัญหาสังคมผ่านเพลง "ประเทศกูมี" โดยล่าสุดยอดรับชมในยูทูบพุ่งทะยานไปมากกว่า 20 ล้านวิว ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 วัน

วอยซ์ออนไลน์คุยกับ 'ดาจิม' สุวิชชา สุภาวีระ แร็ปเปอร์ชื่อดังของเมืองไทย ถึงมุมมองการนำเสนอปัญหาบ้านเมืองผ่านเพลง Hip-Hop

ศิลปินหนุ่มมากประสบการณ์บอกว่า Hip-Hop สะท้อนสังคมเป็นเรื่องปกติและมีมาอย่างยาวนาน เรียกว่าเป็นเพลงเพื่อชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มาของเนื้อหา อาจมาจากประสบการณ์ ความอึดอัดคับข้องใจ ความรัก การถูกหักหลัง หรือแม้แต่ปัญหาบ้านเมือง

“เพลงของผมส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาสังคม นำประสบการณ์ที่พบเจอมาเล่า และใส่อารมณ์เข้าไปในเพลง ตัวอย่างเช่น เพลงอย่าให้กูเจอ มันเกิดจากการถูกขโมยรถเวสป้า ซึ่งเป็นรถของเพื่อนผม รปภ.ของห้างดันสะเพร่า ปล่อยขโมยเอารถไปได้ แต่สุดท้ายกลับไม่มีใครรับผิดชอบ มันทำให้ผมเกิดความแค้น อยากระบาย”

แม้จะมีที่มาจากความโมโห แต่เนื้อหาภายในเพลง ก็เสมือนเป็นการสะท้อนปัญหาสังคมและให้อุทาหรณ์กับผู้ฟังได้เช่นกัน

“อยากให้ผู้ฟังรับรู้ประสบการณ์ เป็นอุทาหรณ์ว่า ต่อให้คุณล็อกรถ ดูแลความปลอดภัยอย่างดี คุณก็อาจจะถูกขโมยได้ ที่สำคัญห้างไม่รับผิดชอบให้คุณด้วย”

อีกหนึ่งเพลงดังของดาจิมที่มาจากประสบการณ์และต้องการมอบแนวคิดผ่านเสียงเพลงให้กับทุกคน คือเพลง ห.ว.ย.

เขาเล่าว่า คนโบราณมักเตือนเสมอ อย่าไปหลงงมงายกับหวย เพราะมันย่อมาจาก หายนะ วอดวาย ย่ำแย่ แต่ในฐานะศิลปินเราต้องการเล่นคำให้เป็นศิลปะ เรามองมันเท่ากับ ‘เหี้ย เวร เ..ดเขร้’ ซึ่งเป็นอารมณ์ของคนที่ถูกหวยกิน การนำคำหยาบมาใช้เป็นการเพิ่มอรรถรส อารมณ์ให้กับเนื้อเพลง

“มีคำหยาบในเพลงจริง แต่มันเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ เนื้อหา เรื่องราว ที่ศิลปินอยากนำเสนอ ถามว่าฟังแล้วได้อะไร ก็ได้คำเตือนไง อย่าเชื่อ อย่าไปเล่น หายนะ วอดวาย ย่ำแย่ เหี้ย เวร เ-ดเขร้ ซื้อเท่าไหร่ก็หมดตัว นี่คือสิ่งที่เพลงมันสะท้อนออกมา”


บันทึกแบบเต็มหน้าจอ 30102561 184112.jpg

แร็ปเปอร์มากประสบการณ์เห็นว่า ศิลปิน Hip-Hop มีอิสระมากในวงการเสียงเพลง สามารถถ่ายทอดเนื้อหาได้หลากหลาย ตามความคิดสิทธิที่ตัวเองมี

“คนนำเสนอมันอิสระมาก จะพูดอะไรก็แล้วแต่มึง อยากจะเล่าอะไร อยากจะพูดก็เป็นสิทธิของเรา แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่ชอบก็ไม่ต้องฟังผม เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะชอบเพลงของเรา”

สำหรับเพลงประเทศกูมี ดาจิมบอกว่า ศิลปิน RAP AGAINST DICTATORSHIP มีทักษะการร้อง การนำเสนอที่ยอดเยี่ยม เนื้อหาในเพลงเป็นข่าวที่ทุกคนได้เห็นและวิจารณ์กันตามสื่อมาตลอด พวกเขาหยิบมาเล่า ระบายมันออกมา คาดว่าทำการบ้านมาเป็นอย่างดี และเนื่องจากที่ผ่านมาศิลปิน Hip-Hop ในเมืองไทยมักนำเสนอแต่ประเด็นจิกกัดสังคมเท่านั้น ไม่ได้เข้มข้นหรือคาบเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและบุคคลผู้มีอำนาจอย่างชัดเจนเหมือนเพลงประเทศกูมี จึงส่งผลให้เพลงนี้ตกเป็นที่สนใจอย่างมาก

“เรื่องหยาบคาย เขาน้อยกว่าเพลงผมในอดีตมาก สิ่งที่เขามีคือประเด็นที่เข้มข้น สกิลการแร็ปยอดเยี่ยม ชัดเจน สื่อสารได้หนักแน่น ท่อนฮุก ศิลปินใช้ทั้งอายคอนแทค สีหน้าท่าทาง สื่อออกมาได้อย่างเน้นๆ ว่าที่อื่นไม่มี แต่ประเทศกูมีอะ ผมคิดว่าเขาทำการบ้านมาดี ฉลาดในการแต่งเนื้อ แร็ปเปอร์เขาพูดรวมๆ ไม่ได้เอ่ยชื่อ เจาะจงใคร จะเอาผิดเขาได้อย่างไร”


บันทึกแบบเต็มหน้าจอ 30102561 183723.jpg

ปัญหาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นอยู่ ดาจิมเห็นว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐตื่นตัวและระแวงมากเกิดเหตุ นอกจากนั้นยังมองว่า ศิลปินกลุ่มดังกล่าวไม่ได้มีเบื้องหลังหรือมีผู้สนับสนุนทางการเมือง หากแต่มีเจตนาเพื่อต้องการสะท้อนปัญหาสังคมเท่านั้น

“กระต่ายตื่นตูมไป เพลงมันก็คือเพลง ที่บอกว่ามีผู้สนับสนุน หวังผลอยู่เบื้องหลัง ไม่เกี่ยวเลย มั่นใจ เนื้อเพลงไม่ได้สนับสนุนใครเลย เจตนาแค่สะท้อน ระบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง”

ภาพจากอินสตาแกรม dajimpedhuayak

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog