ไม่พบผลการค้นหา
เลขาฯสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย เผยโรคพิษสุนัขบ้ากลับมาระบาด เหตุการฉีดวัคซีนหยุดชะงักจากปัญหาภายในของภาครัฐ ชี้การฆ่าสุนัขไม่ได้ผล แนะใช้กฎหมายควบคุมผู้เลี้ยงสุนัขอย่างจริงจัง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าล่าสุด มีการประกาศพื้นที่เขตโรคระบาดชั่วคราวลดลงเหลือ 26 จังหวัด จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 4 ราย ขณะที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อย่างจริงจัง เพื่อให้โรคสงบอย่างรวดเร็ว โดยเร่งดำเนินการ 3 มาตรการหลัก คือ 1.ประกาศเขตโรคระบาด มีรัศมีครอบคลุม 5 กม. 2. สำรวจสุนัขและแมวในรัศมี 5 กม. ให้ได้ 100 % และ3. ฉีดวัคซีนให้ได้ 100 % รวมทั้งสั่งกักสัตว์ที่มีเจ้าของห้ามออกนอกบริเวณบ้าน ยกเว้นได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โรคพิษสุนัขบ้าหายไปจากประเทศไทยหลายปี จากการดำเนินการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และทำหมันให้กับสุนัข แต่การกลับมาระบาดในครั้งนี้ เกิดจากปัญหาเรื่องการบริหารอำนาจของหน่วยงานรัฐ ทำให้การฉีดวัคซีนและทำหมันให้กับสุนัข ถูกเว้นวรรคไปในช่วงปี 2559-2560 ส่งผลให้สุนัขไม่มีภูมิคุ้มกันจนเกิดโรคระบาดขึ้นในปีนี้ 

นอกจากนี้ การนำเข้าวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณระหว่างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และองค์กรปกครองท้องถิ่น ก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าครั้งนี้ด้วย

"วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการกลับไปดำเนินการในแนวทางที่เคยทำมา ภาครัฐควรแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในให้ได้ "

สำหรับข้อเรียกร้องให้มีการกำจัดสุนัขเพื่อเป็นการยุติปัญหานั้น โรเจอร์ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยเคยใช้วิธีการฆ่าสุนัขเพื่อแก้ไขปัญหาจรจัดมาตั้งแต่ปี 2498 จนมาถึงปี 2535 ถึงได้เริ่มหยุดฆ่า เพราะเป็นวิธีที่ล้มเหลว ดังนั้นไม่มีความจำเป็นที่จะกลับไปใช้วิธีที่เคยพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ได้ผล

ขณะเดียวกันการที่กฎหมายมอบอำนาจให้กรมปศุสัตว์ สามารถใช้วิธีการทำลายสัตว์ได้นั้น กรมปศุสัตว์ต้องตระหนักให้ดี ควรทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง นำสุนัขมาตรวจก่อน เพื่อป้องกันข้อพิพาทที่อาจตามมา เพราะถ้าหากมีผู้มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินตามขั้นตอน เขาสามารถแจ้งความเอาผิดได้ โดยอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์

โรเจอร์ สะท้อนว่า ต้นเหตุการเกิดปัญหาที่แท้จริงเกิดจากเจ้าของสุนัขไม่พาสุนัขไปฉีดวัคซีน แล้วปล่อยสุนัขไปนอกบ้านจนไปติดเชื้อข้างนอก จนกลับมากัดคนในบ้าน ดังนั้นถึงเวลาที่รัฐจะต้องเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมาเรามีทั้งข้อบัญญัติการเลี้ยงและปล่อยสัตว์ แต่ไม่เคยมีการนำไปบังคับใช้ เจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปตรวจสอบ ทำให้ไม่มีใครพาสุนัขไปขึ้นทะเบียน และน้อยคนจะพาไปฉีดวัคซีน 

การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้คนอุ้มหมามาฉีดวัคซีนมันไม่ได้ผล เราต้องเข้าใจความเป็นคนไทยด้วยกัน ให้มาดีๆไม่มาหรอก ถ้าอยากจะแก้ที่ต้นเหตุเจ้าหน้าที่ต้องมีบทลงโทษ ต้องเข้าไปตรวจสอบ

"ฟาร์มเพาะสุนัขก็ไม่มีการออกกฎหมายควบคุม ทุกวันนี้ซื้อ-ขายสุนัขกันง่ายๆ เพาะกันเป็นว่าเล่น ขายกันล้นตลาด ราคาถูก พอได้มาถูกๆ คนเลี้ยงก็ปล่อยปละละเลย ทุกวันนี้สุนัขลูกครึ่งเดินข้างถนนเต็มไปหมด" โรเจอร์กล่าว

ด้านพรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการป้องกันการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด ต้องอาศัยความร่วมมือในหลายพื้นที่ และต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน หากมีสถานที่พักพิงก็ต้องนำสุนัขไปไว้ ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวและใช้งบประมาณค่อนข้างมาก แต่ถ้าเป็นสุนัขในชุมชน ต้องช่วยกันดูแล ฉีดวัคซีน ทำหมัน เพื่อไม่ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญต้องลดแหล่งอาหารสำหรับสุนัข เพราะถ้ายังมีคนให้อาหารสุนัข แม้จะมีการนำสุนัขจรจัดไปไว้ที่กักกันแล้ว ก็จะมีสุนัขจรจัดตัวใหม่มาแทนที่ตัวเดิม ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทุกพื้นที่ ต้องร่วมกันทำพร้อมๆ กัน มิฉะนั้นวงจรก็จะกลับมาเหมือนเดิม

นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงต้องเลี้ยงอย่างพอเพียง เลี้ยงในจำนวนที่สามารถดูแลได้ ก่อนหน้านี้เคยมีการพยายามออกกฎหมายควบคุมจำนวนการเลี้ยงสุนัขว่าบ้านหลังหนึ่งสามารถเลี้ยงได้กี่ตัว ซึ่งต้องอาศัยหลักการทางทฤษฎี ร่วมกับแนวปฏิบัติให้ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน ส่วนตัวมองว่าหากมีกฏหมายนี้ ออกมาอาจมีส่วนช่วยในการลดจำนวนสุนัขจรจัด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าได้อีกทางหนึ่ง

ในส่วนวิธีการุณยฆาตสุนัขซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงในโลกสังคมออนไลน์ในขณะนี้ ทาง นสพ.พรพิทักษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า "ในประเทศไทยมีกฎหมาย ที่เอื้อให้สามารถการุณยฆาตในสัตว์ได้ เพื่อควบคุมโรคระบาด ซึ่งกรมปศุสัตว์จะมีขั้นตอนดำเนินการ แต่บ้านเราเป็นเมืองพุทธคนทำจะรู้สึกลำบากใจที่จะทำ

กฎหมายบ้านเราโทษค่อนข้างเบา ทำให้คนรู้สึกว่าไม่เป็นไร เลี้ยงไม่ไหวก็นำมาปล่อย ทำให้จำนวนสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้น ถามว่าควรเพิ่มโทษไหม เรื่องนี้ส่วนที่เกี่ยวข้องต้องไปคุยกัน ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน เพราะทุกวันนี้จะให้ภาครัฐดูแลอย่างเดียวคงไม่ไหว


ด้าน สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคเกรียน ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า วิธีการ Set Zero ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า โดยสมาชิกพรรคเกรียน ได้ข้อเสนอคร่าวๆ 6 ข้อ ดังนี้  

1.ควบคุมฟาร์มเพาะแมวและสุนัข จัดโซนนิ่ง ทำให้มีความเป็นมืออาชีพ อีกหน่อยส่งออกได้ด้วย แต่แนวคิดหลักคือควบคุมไม่ให้มีการผลิตแบบแพร่กระจายและปล่อยสัตว์แบบอนาถา

2.ออกกฎหมายการครอบครองสัตว์เลี้ยงเช่นหมา แมว ผู้เลี้ยงต้องมีคุณสมบัติและมีมาตรฐานเพียงพอที่จะดูแลชีวิตคนอื่น และควบคุมจำนวนที่จะเลี้ยง กรณีนี้ทำหมันฝังชิปทุกตัว

3.ฝังชิปสุนัขแมวจรจัดทุกตัว และจัดทำฐานข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบ Open Data เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่สนใจสามารถเข้าถึงและนำไปบริหารจัดการต่อได้

4.แก้กฎหมายเปิดทางให้มีการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญการทำหมันสุนัขแมว เพื่อรับมือกับวาระการทำหมันทั้งประเทศ 

5.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการในระดับจังหวัดและเขตในกรณีที่มีความหนาแน่นของสุนัขแมวจรจัด เพื่อทำหมัน พักฟื้น และส่งต่อไปยัง Hub ดูแลในระยะยาว

6.ออกแบบ Hub หรือศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดที่ได้มาตรฐาน ไม่แออัด ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยให้ท้องถิ่นหรือกลุ่มชาวบ้านใน ตจว เสนอตัวสร้าง Hub รองรับจากหน่วยงานท้องถิ่นในเมือง โดยหน่วยงานที่จัดส่งเป็นภาระการดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย 



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง