ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ - นักการเมือง ด้านกฎหมายมหาชน ร่วมตีความคำว่า 'ประชาธิปไตยไทยนิยม' ซึ่งแตกต่างจากคำนิยามที่ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ได้บัญญัติไว้

พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ปรากฎความหมายของคำว่า "ไทยนิยม"

แต่เมื่อค้นหาคำว่า "ประชาธิปไตย" หมายความว่า ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่ 

รูปแบบการปกครองประชาธิปไตยแบบไทยนิยม ถูกเสนอขึ้นมากลางงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นิยามคำว่า ประชาธิปไตยไทยนิยมคือ เป็นแบบไทยๆ เหมาะสมกับประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราต้องปูพื้นฐานประชาธิปไตยในอนาคตให้ได้ว่าจะทำยังไง ให้เกิดความมั่นคง

1200  eb Cover Template.jpg

16 มกราคม 2561 พลเอกประยุทธ์ เน้นย้ำโมเดล "ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม" เป็นวันที่ 2 โดยระบุหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า "ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบใดก็ตาม มันจะต้องไม่ทิ้งกลไก หรือทิ้งสาระสำคัญของคำว่าประชาธิปไตยอันเป็นสากล ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใสและเป็นธรรม"

"มันต้องหาประชาธิปไตยที่คนไทย ทุกพวกทุกฝ่ายเข้าใจ และมีอุดมการณ์เดียวกันที่ทำให้ประเทศชาติ มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน นั่นแหละคือไทยนิยมของผม"

ถัดจากนั้นวันที่ 17 มกราคม 2561 นายกรัฐมนตรี ยังคงยืนยันนิยาม "ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม" เป็นวันที่สาม ระหว่างลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

"ไทยนิยมคือ การขับเคลื่อน ในแกนวายลงมา บนลงล่าง ระดับข้างล่างก็มี ประชารัฐอยู่ข้างล่างนะครับ ในระดับพื้นที่ เพราะฉะนั้นวันนี้ เราขับเคลื่อน ไทยนิยม คือ ประชาชนร่วมมือกันทำในสิ่งที่เขาตรงกับความต้องการของเขา นั่นคือไทยนิยมของผม"

ชีี้หัวใจประชาธิปไตย อำนาจของประชาชน

นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา แกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายมหาชน จากมหาวิทยาลัยปารีส 2 สะท้อนว่า เวลาเราอ้างเป็นประชาธิปไตยก็ต้องมีพื้นฐานประชาธิปไตย เราจะบอกเป็นประชาธิปไตยไทยๆ ได้ แต่พื้นฐานยังดำรงอยู่ไหม ถ้าพื้นฐานไม่ดำรงอยู่ แล้วบอกว่าเป็นไทยแล้วใครจะฟังเรา

G83A8416.JPG

อดีตประธานรัฐสภา ระบุว่า คนที่อธิบายประชาธิปไตย สั้นและง่ายที่สุดคือ ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ของสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ในรัฐธรรมนูญเขียนชัดทุกฉบับ แม้แต่ฉบับชั่วคราวก็บอกว่าอำนาจการปกครองประเทศเป็นของประชาชน 


"ถ้าเราบอกประชาธิปไตยแบบไทยใช่ครับ อำนาจเป็นของประชาชนเพื่อประชาชน แต่โดยกระผมและพวก นี่คือประชาธิปไตยแบบไทย ก็ถามว่าทั่วโลกและคนไทยจะรับได้ไหม"

"หัวใจประชาธิปไตยคือ อำนาจเป็นของประชาชน ดังนั้น ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิเลือกผู้ปกครอง ต้องมีสิทธิเลือก ส.ส.ของเขา ต้องมีสิทธิให้ผู้ปกครองรับฟังเขา มีสิทธิเสนอกฎหมาย แต่ถ้ารัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาให้ประชาชนมีสิทธิน้อยสุดแม้แต่ผ่านทางผู้แทน แล้วจะบอกเป็นประชาชนได้หรือไม่" นายโภคิน ระบุ

ประชาธิปไตยไทยนิยม คือ ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ

ขณะที่ ศ.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนว่า โดยส่วนตัวพอได้ยินคำนี้แล้วพูดกับนักวิชาการคนอื่นแล้วเห็นว่า ประชาธิปไตย กับไทยนิยม น่าจะแยกออกมาจากกัน ถ้าดูว่าน่าจะหมายความว่า การปกครองประเทศแบบไทยๆ ทั้งนี้ประเทศไทยผ่านการปฏิวัติ รัฐประหารมาหลายครั้ง มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทหารจะใช้อำนาจไประยะหนึ่งแล้วมีการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ แน่นอน เพราะระบบเลือกตั้งเป็นการนำเอามาจากต่างประเทศ 

G83A8449.JPG
"ประชาธิปไตยแบบไทยนิยม คือประชาธิปไตยที่ฝ่ายบริหาร มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสำหรับผม เราจะเห็นว่า บ้านเราตั้งแต่ ปี2475 อยู่ในช่วงที่มีการรัฐประหารกินเวลาเป็น สิบๆปี ทุกคนบอกว่าเรามีประชาธิปไตย มีการร่างรัฐธรรมนูญ"

ศ.นันทวัฒน์ ยังยกตัวอย่างกรณีสภาผ่านกฎหมายออกมาแล้ว ทำไมต้องออกคำสั่ง มาตรา 44 มาขยายความในภายหลัง ซึ่งวิธีการนี้ก็คือประชาธิปไตยแบบไทยนิยม เพราะกฎหมายออกโดยสภาแล้วแก้ไขเพิ่มเติมโดยคณะรัฐประหาร ดังนั้น ประชาธิปไตยไทยนิยมคือ ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง