นายจรูญ วรรณกสิณานนท์ กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายฯ ร่วมกันมีส่วนให้ สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์อย่างผิดกฎหมาย
โดย นายจรูญ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งวิธีจัดทำ การนำเสนอต่อสภาและการพิจารณาโดยเร่งด่วนภายในวันเดียวผ่าน 3 วาระรวด ซึ่งขัดต่อกฎหมายหลายประการ ขณะเดียวกันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้อ้างมติ ครม. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2561 และ 4 เม.ย. 2560 ทั้งสองวันไม่ได้มีมติเกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ รวมทั้งขั้นตอนการจัดทำร่างได้เปิดรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาเพียง 7 วันเป็นเวลาที่น้อยนิด
ทั้งนี้ มีผู้ยื่นคัดค้านต่อ สนช.แล้ว แต่ยังดึงดันผ่านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถือว่าสมาชิก สนช.ที่ผ่านร่างกฎหมายนี้กระทำผิดด้วย จึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากเห็นว่าไม่ชอบด้วย ก็ขอให้มีคำวินิจฉัยเพิกถอนโดยทันที ก่อนที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
ขณะเดียวกัน เครือข่ายองค์กรชาวพุทธ ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปป.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)ไว้ด้วย
นายจรูญ มองว่า ร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ดังกล่าวนอกจากย้อนยุคไปสมัย รัชกาลที่ 5 ตามที่นายวิษณุ แถลงต่อ สนช.แล้ว ยังไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยปัจจุบัน และแม้กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าโดยนายกฯเพียงผู้เดียว ซึ่งไม่แตกต่างจากกฎหมายเดิมก็ตาม แต่ที่สำคัญคือใน ร่างฯ ใหม่นี้ ที่เห็นว่าเป็นการล้มล้างมหาเถรสมาคม (มส.) โดยตำแหน่ง เพราะแม้พระภิกษุจะได้สมณะศักดิ์หรือเป็นพระราชาคณะที่แต่เดิมจะต้องเป็นกรรมการ มส.โดยตำแหน่งนั้น เปลี่ยนมาให้นายกฯ สามารถเลือกเสนอพระรูปใดก็ได้มาเป็นกรรมการ มส.ที่จะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี
อย่างไรก็ตาม พระผู้ใหญ่อาจมีเพียงสมณศักดิ์ แต่ไม่มีอำนาจปกครองคณะสงฆ์ คล้ายกับนายพลยศพลเอก แต่ไม่มีตำแหน่งในกองทัพ และผู้มีอำนาจอาจตั้งพระที่มีพรรษาน้อยมาปกครองพระที่แก่พรรษากว่า อย่างคำโบราณที่ว่า เข้าอีหรอบ "ตั้งเณรมาเป็นเจ้าอาวาส" ได้นั่นเอง พ.ร.บ.ใหม่นี้จึงอันตรายต่อพระพุทธศาสนา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง