จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ต่อการประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของชาวบ้านใน ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการคัดแยกขยะพิษ ของโรงงานคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าต่างประเทศ โดยระบุเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งนำไปสู่การสั่งปิดโรงงาน และประกาศระงับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ขณะที่ จ.กาฬสินธุ์ เริ่มตรวจสอบสถานประกอบการ และรีเช็คเส้นทางการเคลื่อนย้ายขยะ และมีความพยามปัดฝุ่นโครงการสร้างเตาเผาขยะ เพื่อลดมลพิษและป้องกันอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากที่รอคอยมานานกว่า 20 ปี
ล่าสุด บรรยากาศการคัดแยกขยะอีเล็กทรอนิกส์ ในเขต ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะบ้านหนองบัว หมู่ 3 และ หมู่ 11 ต.โคกสะอาด ซึ่งเป็นชุมชนคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่ พบว่าบรรดาผู้ประกอบการ ยังคงทำการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างปกติ อย่างที่เคยทำกันมาตลอด 20 กว่าปี โดยไม่รู้สึกต่อกระแสข่าวการได้รับสารตะกั่ว หรือสารพิษจากชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย หรือทำลายระบบนิเวศ ตามที่มีข่าวอยู่ขณะนี้
นายสมัย หนองทองมา อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 135 หมู่ 11 บ้านหนองบัว ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ประกอบอาชีพคัดแยกขยะฯ มาประมาณ 20 ปี โดยขยะฯ ที่นำมาคัดแยกเอาชิ้นส่วนที่มีค่ารวบรวมขาย สร้างรายได้จุนเจือครอบครัวนั้นได้จากการออกตระเวนหาตามหมู่บ้านต่างๆ และรับซื้อจากพ่อค้าเร่บ้าง จึงเป็นขยะบริสุทธิ์ภายในประเทศ ไม่ได้เป็นขยะนำเข้าจากปะเทศ เดิมจะคัดแยกทุกประเภท แต่ปัจจุบันทีวีกับมือถือหายากมากขึ้น เนื่องจากมีกลุ่มผู้ประกอบการเฉพาะด้านนี้จำนวนมาก และมีการผูกขาดเป็นขาประจำกับแหล่งที่ไปรับซื้อ จึงคัดแยกตู้เย็นกับพัดลมเป็นหลัก เพราะทำง่ายและขายชิ้นส่วนได้กำไรดี
“ในประเด็นที่สังคมกำลังจับตามองเราอยู่ คือผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้น ตนและเพื่อนบ้านผู้ประกอบการอาชีพเดียวกัน ที่คลุกคลีกับการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลับมองเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะที่ผ่านมา ตนและทุกคนในครอบครัว ก็ดำรงชรวิตอยู่เป็นปกติ ทุกคนยังมีสภาพร่างกายแข็งแรง ปลอดภัย ไม่มีภาวะใดแทรกซ้อนให้มีอาการเจ็บป่วย ถึงช่วงตรวจสุขภาพ ก็เข้ารับการตรวจเลือดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกครั้ง ซึ่งก็ไม่พบว่าจะมีสารตะกั่วหรือสารพิษตกค้างในกระแสเลือดแต่อย่างใด” นายสมัย กล่าว
นายสมัย กล่าวว่า กรณีที่เคยมีหลายหน่วยงานเข้ามาศึกษา และจะหาวิธีการควบคุมการคัดแยกขยะให้ปลอดภัย รวมทั้งจะจัดงบประมาณมาก่อสร้างเตาเผาขยะนั้น หากทำได้ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะเป็นความหวังของชาวบ้านอยู่แล้ว ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาเศษขยะที่ไม่ต้องการ เช่น โฟมที่คัดแยกจากตู้เย็น พลาสติกจากสายไฟ หรือยางรถจักรยานยนต์ โดยมีการเผาทำลายอย่างถูกวิธี ไม่มีกลิ่นควันที่จะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ แต่ที่ผ่านมาก็แค่เห็นมาลงพื้นที่ และฝากความหวังลมๆแล้งๆกับชาวบ้านแค่นั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลงมือทำอะไรเลย พอมีกระแสข่าวเกิดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่อื่น ก็พากันตื่นข่าว และออกมาตรวจสอบการประกอบอาชีพของชาวบ้าน แจ้งว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ชาวบ้านเราดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพคัดแยกกันอย่างปกติสุข เพราะเราอยู่กันอย่างเคยชินกับสภาพนี้มานานแล้ว
ขณะที่นายวิศิษฏ์ วิรุฬพัฒน์ อายุ 63 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองตอกแป้น ม.5 ต.หนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ชาวบ้านใน ต.หนองตอกแป้น 9 หมู่บ้าน รวมทั้ง ต.หัวงัว อ.ยางตลาด, ต.หนองแปน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ที่อยู่ห่างจากบ่อกำจัดขยะของ อบต.โคกสะอาด ประมาณ 3-5 กม. หรือรัศมีไกลออกไปถึง ต.ท่าตูม และ ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม ประมาณ 10-15 กม.ที่อยู่ใต้ลม ต้องทนทุกข์ทรมานจากการสูดกลิ่นเหม็น ที่เกิดจากการเผาไหม้โฟม เศษยาง พลาสติก มากว่า 20 ปี ทั้งๆที่เคยมีการร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งในระดับท้องถิ่นและอำเภอหลายครั้ง ก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้น
“ส่วนมากกลิ่นเหม็นจะโชยมาอย่างรุนแรงในช่วงค่ำ ซึ่งเป็นตอนมีการลักลอบเผาขยะ บางครั้งจะเห็นกลุ่มหมอกควันลอยมาในระดับต่ำบ้าง สูงบ้าง ตามแรงกดดันของอากาศ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านที่ได้สูดกลิ่นเหม็นดังกล่าวมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ ลำคอแห้ง อย่างไรก็ตาม ทราบว่าเคยมีนักวิชาการด้านสาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม มาลงพื้นที่ เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมชุมชนใกล้เคียง ก็ไม่เห็นว่าจะมีการดำเนินการอะไร เพราะมีแต่นักวิชาการแต่ไม่มีนักปฏิบัติ ปัญหาก็ยังเป็นปัญหาเรื้อรังมาถึงทุกวันนี้” นายวิศิษฏ์กล่าว
นายวิศิษฏ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาที่ชาวบ้าน ต.หนองตอกแป้นและใกล้เคียงกำลังเผชิญ จากการเผาเศษขยะฯ ยังมีอีกคือ ตำบลเราเป็นโซนเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีการปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อสุขภาพมากว่า 10 ปี แต่หลังจากกระแสลมพัดพาควันพิษเข้ามาพื้นที่ วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่า ทำให้ผลผลิตข้าวอินทรีย์เสียหาย เมื่อนำเมล็ดข้าวไปทำการวัดคุณภาพ จึงไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากมีสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะปนเปื้อน จึงเป็นปัญหาใหญ่ ที่ทำลายอนาคตข้าวอินทรีย์ และบั่นทอนสุขภาพชุมชน ถือเป็นความเสียหายต่อระบบห่วงโซ่อาหาร กระทบต่อการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตของชุมชนใกล้เคียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องทนรับควันพิษอย่างเต็มๆ
“ขอเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เข้ามาใส่ใจดูแลสุขภาพชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมชุมชนใกล้เคียงอย่างจริงจัง และจริงใจ ไม่ใช่แก้ไขที่ปลายเหตุอย่างที่กำลังทำๆกันอยู่ทุกวันนี้ คือตรวจร่างกาย หาค่าสารพิษตกค้าง ควบคุมการคัดแยกและลดปริมาณขยะเข้าพื้นที่เท่านั้น เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน ทำผ่านไปวันๆสิ่งที่ควรทำคือเร่งประสานกับทุกภาคส่วนแก้ไขปัญหาอย่างเป็นมิตร ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ไม่ใช่ต่างคิดต่างทำ ทั้งนี้เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด ตามนโยบายนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ไว้เป็นแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาขยะอีเล็กทรอนิกส์ว่า ชาวบ้านอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมอยู่ได้” นายวิศิษฏ์ กล่าว