ไม่พบผลการค้นหา
โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่ตอบรับคำเชิญจากผู้นำเกาหลีเหนือให้ร่วมโต๊ะเจรจา โดยสำนักข่าว CNN วิเคราะห์ว่าทรัมป์กำลังเดินเข้าสู่กับดักของเกาหลีเหนือ เพราะกลายเป็นผู้สร้างความชอบธรรมให้กับคิมจองอึน โดยที่ตนเองอาจไม่ได้ประโยชน์อะไร

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างกระแสฮือฮาไปทั่วโลกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (9 มีนาคม) เมื่อเขาตอบรับคำเชิญจากนายคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ในการพบกันแบบตัวต่อตัวเพื่อเจรจาคลี่คลายความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลี ทันทีที่ตัวแทนเกาหลีใต้ที่เพิ่งเสร็จสิ้นจากการเยือนเกาหลีเหนือ มอบเทียบเชิญจากนายคิมให้กับนายทรัมป์ โดยการพบกันครั้งประวัติศาสตร์นี้จะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤษภาคม ภายใต้เงื่อนไขที่ทำเนียบขาวย้ำว่าเกาหลีเหนือจะต้องแสดงท่าทีพร้อมปลดอาวุธนิวเคลียร์ และต้องไม่มีการทดลองนิวเคลียร์ในระหว่างการเตรียมการเจรจาครั้งสำคัญนี้อย่างเด็ดขาด

นายทรัมป์ดูจะภาคภูมิใจกับความสำเร็จทางการทูตครั้งนี้ โดยย้ำว่ากลยุทธแข็งกร้าวของเขาได้ผลในการทำให้เกาหลีเหนือกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้รับคำเชิญจากผู้นำสูงสุดเกาหลี เหนือให้เข้าร่วมโต๊ะเจรจากัน ก่อนหน้านี้นายบิล คลินตัน, นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช และนายบารัก โอบามา ต่างเคยคิดจะร่วมโต๊ะเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือ แต่พวกเขาก็ตัดสินใจล้มเลิกความคิดนั้น เพราะการพบกับผู้นำสหรัฐฯ ในฐานะ "คู่เจรจา" ที่เท่าเทียมกัน เป็นสุดยอดปรารถนาของเกาหลีเหนือ เพราะเท่ากับการสร้างเครดิตครั้งมโหฬาร ในขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ ต่างตระหนักดีว่าการร่วมโต๊ะเจรจากับผู้นำเกาหลีเหนือ คือไพ่ใบที่ดีที่สุดเทาที่สหรัฐฯมี เพราะฉะนั้น ไพ่ใบนี้จึงไม่มีวันถูกใช้ หากสหรัฐฯ ไม่เล็งเห็นว่านั่นคือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด

นายบิล คลินตัน เคยส่งแมเดลีน อาลไบรท์ รัฐมนตรีต่างประเทศไปเยือนเกาหลีเหนือ เพื่อเตรียมการประชุมสุดยอดระหว่างเขากับนายคิมจองอิล ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือในเวลานั้น โดยนายคลินตันยืนยันว่าเขาจะไม่เดินทางไปพบผู้นำเกาหลีเหนือ หากทุกๆ อย่างไม่ถูกเตรียมการอย่างรัดกุมที่สุด แต่สุดท้ายเรื่องกลับกลายเป็นว่าสหรัฐฯและเกาหลีเหนือไม่สามารถตกลงกันได้ ถึงประเด็นสำคัญที่สุดอย่างการปลดอาวุธนิวเคลียร์ ครั้งนั้นเกาหลีเหนือยอมทั้งยุติการขายและผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่ยอมยุติการครอบครองนิวเคลียร์ที่ตนเองมีอยู่แล้ว ทำให้สุดท้ายนายคลินตันประเมินว่าเขาไม่ควรเดินทางไปเกาหลีเหนือ ตราบใดที่สหรัฐฯ ไม่สามารถทำให้เกาหลีเหนือกลายเป็นประเทศปลอดนิวเคลียร์ได้

แม้แต่รัฐบาลสายเหยี่ยวของนายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็เคยพยายามจะสานต่อนโยบายการทูตแบบคลินตัน แต่เมื่อมีการตรวจสอบพบโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมสำหรับอาวุธนิวเคลียร์โครงการใหม่ของเกาหลีเหนือ ความตั้งใจดังกล่าวก็ล้มเลิกไป และผลักความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ ให้กลับมาเย็นชาอีกครั้ง


มรดกทางความคิดหลังจากยุค2สมัยของปธน.โอบามา

ส่วนรัฐบาลนายบารัก โอบามา ผู้ขึ้นสู่อำนาจพร้อมการประกาศว่าจะเจรจากับประเทศศัตรูกับสหรัฐฯทุกประเทศ และก็ได้จัดการพบปะครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างเขากับนายราอูล กาสโตร ผู้นำคิวบา รวมถึงได้ยกหูโทรศัพท์คุยกับนายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่าน ก็พยายามจะเจรจากับเกาหลีเหนือเช่นกัน แต่ปฏิเสธการพบกันโดยตรงระหว่างผู้นำสองประเทศ นายโอบามากล่าวไว้ในปี 2013 ว่าพฤติกรรมข่มขู่คุกคามที่นายคิมจองอึนใช้ ไม่ต่างอะไรกับที่พ่อและปู่ของเขาเคยใช้มาแล้ว และสหรัฐฯไม่ต้องการส่งเสริมแนวคิดที่ว่าหากเกาหลีเหนืออยากเจรจา ก็ต้องใช้วิธี "ทุบโต๊ะ" เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ

แล้วสำหรับรัฐบาลทรัมป์ การที่เขาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ตอบรับการร่วมโต๊ะเจรจากับผู้นำ เกาหลีเหนือบ่งบอกอะไร? CNN มองว่าทรัมป์ตกหลุมพรางเกาหลีเหนือ เพราะการที่สหรัฐฯทิ้งไพ่ใบที่ดีที่สุดของตัวเองลงไป โดยที่ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเกาหลีเหนือจะยอมโอนอ่อนเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้จึงถือเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความอ่อนด้อยประสบการณ์ และไม่สนใจประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทรัมป์กำลังทำให้สหรัฐฯ ตกที่นั่งลำบาก และทำให้เกาหลีเหนือได้ใจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เห็นได้ชัดว่า ทำเนียบขาวพยายามแก้ไขข้อผิดพลาดนี้ด้วยการเพิ่มเงื่อนไขไว้ว่านายทรัมป์จะ ไม่พบกับนายคิมจองอึน หากเกาหลีเหนือไม่แสดงท่าทีอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมว่าจะยอมปลดอาวุธ นิวเคลียร์ แต่เมื่อเรื่องดำเนินมาถึงขั้นนี้ หากล้มการเจรจา สหรัฐฯก็จะเป็นฝ่ายเสียแต้มเอง และหากเกิดการเจรจาขึ้นจริง แล้วสหรัฐฯไม่สามารถทำให้เกาหลีเหนือรับปากว่าจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ได้ สหรัฐฯก็จะเสียแต้มอย่างหนักเช่นกัน ในขณะที่เกาหลีเหนือได้เครดิตไปแล้วจากการเป็นผู้เปิดการเจรจาและสามารถทำให้ผู้นำสหรัฐฯ มาร่วมโต๊ะได้สำเร็จ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: