ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค เผยเกือบครึ่งของสาเหตุเจ็บตายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 คือ เมาแล้วขับ ส่วนผลการดำเนินการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ 31 ราย และทำหนังสือกล่าวโทษดำเนินคดี 27 ราย พบการกระทำผิดขายเกินเวลาตามมาตรา 28 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 สูงอันดับ 1

นายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ชุดเฉพาะกิจสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ได้สรุปผลการลงพื้นที่ตรวจเตือนและบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในระหว่าง 29 – 31 ธันวาคม 2560 โดยจากการรายงานของทั้ง 3 สาย ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง พบว่าการบาดเจ็บและเสียชีวิตลดเมื่อเทียบกับปี 60 แต่การเมาสุราแล้วขับยังครองแชมป์สาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ 61 ที่สูงถึงร้อยละ 48  

การดำเนินการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายใน 12 จังหวัด แบ่งออกเป็น 3 สาย ได้แก่ สายที่ 1 ภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก กำแพงเพชร สายที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม อุดรธานี และสายที่ 3 ภาคกลาง ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม เป็นมาตรการเพียงส่วนหนึ่งในการชะลอปัจจัยในการเกิดอันตรายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

จากการลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบในระหว่างการเดินทางของทั้งสามสายในวันที่ 29 – 31 ธันวาคม ที่ผ่านมา พบว่า ได้มีการตรวจเตือนและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในข้อกฎหมาย และพบผู้กระทำผิดดำเนินการเปรียบเทียบปรับ 31 ราย และทำหนังสือกล่าวโทษดำเนินคดี 27 ราย โดยในวันที่ 29 ธ.ค. ไม่พบการกระทำความผิดและดำเนินการประชาสัมพันธ์ 41 ราย ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ 18 ราย

และทำหนังสือกล่าวโทษดำเนินคดี 17 ราย ในวันที่ 30 ธ.ค. ไม่พบการกระทำความผิดและดำเนินการประชาสัมพันธ์ 60 ราย ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ 6 ราย และทำหนังสือกล่าวโทษดำเนินคดี 7 ราย และในวันที่ 31 ธ.ค. ไม่พบการกระทำความผิดและดำเนินการประชาสัมพันธ์ 47 ราย ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ 7 ราย และทำหนังสือกล่าวโทษดำเนินคดี 3 ราย โดยพบว่ามาตราที่กระทำผิดสูงสุด ได้แก่ มาตรา 28 การขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

นายแพทย์นิพนธ์ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุหนึ่งที่เกิดการกระทำผิดตามมาตรา 28 นั้นเนื่องจากสถานบริการยังคงมีความเข้าใจผิดว่าสามารถเปิดให้บริการเกินเวลาได้ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้ โดยแท้จริงแล้ว“สถานบริการ” ตาม พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 ประกอบกับกฎกระทรวง เรื่องกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ.2547 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า สถานบริการที่สามารถดำเนินการได้นั้นได้นั้นต้องมีใบอนุญาตสถานบริการก่อนปี 2547 และต้องอยู่ในเขตโซนนิ่ง อีกทั้งสามารถดำเนินการให้บริการในรูปแบบดังกล่าวในคืนวันที่ 31 ธันวาคม เท่านั้น ซึ่งฝ่าฝืน จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ