ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางการผลักดันการเจรจาเพื่อสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ในอีกด้านหนึ่งของการหาทางออก กลับมีปรากฎการณ์แจ้งดำเนินคดีกลุ่มนักกิจกรรมที่จัดงานรวมตัวแต่งชุดมลายู เมื่อปี 2565 จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าการรื้อฟื้นคดีครั้งนี้ เหมือนการราดน้ำมันบนกองไฟความขัดแย้ง
  • เกิดอะไรขึ้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ย้อนไปในปี 2565 สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มนักกิจกรรมภาคประชาสังคมในพื้นที่ ได้นัดเยาวชนมลายูชายแดนใต้ รวมตัวกันนับหมื่นคน ด้วยการแต่งกายตามอัตลักษณ์ใน ‘ชุดมลายู’ ภายใต้กิจกรรมที่ชื่อว่า ‘Perhimpunan Malayu RAYA 2022’ บริเวณหาดวาสุกรี จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นห้วงเวลาของวันรายอ ในช่วงเดือนรอมฎอน 

โดยบรรยากาศในวันนั้นมีการมีการกล่าวสุนทรพจน์ การละเล่นดนตรีท้องถิ่น โดยมีหมุดหมายเพื่อสร้างพื้นที่ในการแสดงออกทางอัตลักษณ์ ให้เยาวชนในพื้นที่ได้พบปะพูดคุยเพื่อขับเคลื่อนผลักดันการสร้างสันติภาพ และนำเสนอสื่อสารไปยังคนภายนอกพื้นที่ว่า เยาวชนได้มารวมตัวกันแสดงออกอย่างสันติ มีอารยะ สะท้อนความกลมเกลียวของคนมลายู

ทว่าจากกิจกรรมดังกล่าว ในปี 2567 ซึ่งการเมืองในส่วนกลางได้ผันเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพลเรือน ได้มีการออกหมายเรียกกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกมองว่าเป็นแกนนำให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาฐานยุยงปลุกปั่น และร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด ในลักษณะอั้งยี่ ซ่องโจร 

โดยมีนักกิจกรรมที่ถูกออกหมายเรียกรวม 9 ราย โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับแกนนำผู้จัดการชุมนุม เนื่องจากเห็นว่าภายในกิจกรรมมีการมีเนื้อหาสอดแทรกการแบ่งแยกความเป็นชาติ ศาสนา มาตุภูมิ และบิดเบือนประวัติศาสตร์ โดยอ้างวัฒนธรรมความเป็นมลายูทำให้เยาวชนและบุคคลทั่วไป ถูกชักนำให้เกิดความ สับสนได้

  • คุกคามทางกฎหมาย

ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจรัฐ อาทิเช่น อังคณา นีละไพรจิต อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตการแจ้งข้อกล่าวหาครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่า ‘คุกคามทางกฎหมาย’ เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับกลุ่มคนที่รัฐมองว่าคิดเห็นต่างจากรัฐ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้โดยอาศัยอำนาจทางกฎหมาย จึงไม่เกิดประโยชน์และอาจมีผลต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในพื้นที่ถดถอยลงไปอีก จากความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมแม้จะออกมาเคลื่อนไหวอย่างสันติ 

กมลศักดิ์
  • กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ

ด้าน กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ผู้ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยการแต่งชุดมลายู ได้ให้สัมภาษณ์กับ ‘วอยซ์’ ถึงปรากฎการณ์ดำเนินคดีครั้งนี้ว่า เรื่องการดำเนินคดีนั้นมีการดำเนินการมาตั้งแต่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งการแจ้งความภายหลังการจัดกิจกรรมเสร็จสิ้น จนกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ และนักกิจกรรมที่ถูกแจ้งความมีการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการทหาร เพื่อขอความเป็นธรรม และเรื่องนี้ก็เงียบไป

จนกระทั่งปี 2567 ในรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีหมายเรียกออกหมายเรียกอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นคดีเดิมที่เคยแจ้งไว้เมื่อปี 2565 โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อกระบวนการสร้างสันติภาพแน่นอน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในระดับนโยบายที่รัฐบาลได้ตั้งคณะพูดคุยสันติภาพชุดใหม่ รวมถึงตั้งกรรมการวิสามัญในส่วนของรัฐสภาควบคู่กันนั้น มันไม่สอดคล้องกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ 

  • ราดน้ำมันบนกองไฟความขัดแย้ง

“เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพลงมาแล้ว ควรจะสร้างบรรยากาศให้สอดคล้องกัน เพราะเท่าที่ดูพยานหลักฐานแล้วมันก็ไม่เพียงพอที่จะเอาผิด การที่รื้อฟื้นคดีนี้อีกครั้ง ผมว่ามันคือการทำลายบรรกาศในส่วนของการเจรจาเพื่อสันติภาพ โดยยืนยันว่าทางพรรคประชาชาติ แม้ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่เรื่องนี้พรรคประขาชาติก็ไม่ได้เห็นด้วยที่จะดำเนินคดีกับนักกิจกรรม ก็จะมีการนำเสนอปัญหาให้ฝ่ายบริหารรับทราบต่อไป” สส.นราธิวาส กล่าว

กลมศักดิ์ เน้นย้ำว่าการแสดงออกทางอัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ใด ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญไทยนั้น ก็มีให้สิทธิเสรีภาพในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งตัวกฎหมายก็ดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาใหญ่คือภาคปฏิบัติทำงานไม่สอดคล้องกับกฎหมายอและนโยบายจากภาครัฐ 

“ในอดีตหลายเรื่องๆก็เกิดปัญหาแบบนี้ในระดับปฏิบัติการ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของความรู้สึกของคนในพื้นที่ ปัญหาของสามจังหวัดชายแดนใต้มันมาจากหลายสาเหตุ ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทั้งเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือเสรีภาพการแสดงออกทางอัตลักษณ์ พอเรื่องมันกำลังเงียบๆ ก็เหมือนเอาน้ำมันราดกองไฟให้มันลุกอีกครั้ง จริงๆมันไม่ใช่แค่คดีนี้คดีเดียวแต่ยังมีอีกหลายเคสที่ดำเนินคดีกับนักกิจกรรมแบบนี้ ยืนยันว่าทางประชาชาติเราไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว” ประชาชาติกล่าวจุดยืน

  • เห็นพ้องตั้งเป้าปี 67 หาทางออกสู่สันติ

ขณะที่การเดินหน้าพูดคุยสันติสุขในพื้นที่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 ศาสตราจารย์ พลเอก ตันซรี ดาโต๊ะ สรี ซุลกิฟลี ไซนัล อะบีดิน ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้พบปะและแนะนำตัวกับ นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขพร้อมด้วยคณะพูดคุยฯ ชุดใหม่ครั้งแรก หลังจากนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งเมื่อ 27 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา

โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในการผลักดันให้มีการรับรองแผน JCPP (Joint Comprehensive plan towards peace) โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในพื้นที่ ภายในกลางปี 2567 ซึ่งจะให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น ได้แก่ การลดความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง