ไม่พบผลการค้นหา
'กมธ.การกฎหมายฯ' พร้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ หลังค้างตั้งแต่สมัยที่แล้ว ให้ไทยมีกฎหมายลูกสอดรับหลักการในรัฐธรรมนูญ

วันที่ 13 ธ.ค. กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย กัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม รองประธานคณะกรรมาธิการฯ รับหนังสือจาก 

สมชาย หอมละออ เครือข่ายภาคประชาสังคมผู้ถูกเลือกปฏิบัติ เข้ายื่นข้อเสนอให้ กมธ.ร่วมผลักดันร่าง พรบ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. … (ฉบับภาคประชาชน)

สมชาย กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือเพื่อขอให้คณะกรรมาธิการฯ ช่วยพิจารณาสนับสนุนเร่งรัดรัฐบาล ผ่านกฎหมายการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การเลือกปฏิบัติไม่ว่าสาเหตุใดๆ ทั้งเหตุแห่งเพศ เชื้อชาติ ศาสนา สถานะทางสังคม หรือสิ่งอื่นใดนั้น ไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับ ยกเว้นฉบับปัจจุบัน ได้นำหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศนี้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ว่าการขจัดการเลือกปฏิบัติหรือการห้ามเลือกปฏิบัติต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ 

แต่ในปัจจุบัน กฎหมายของประเทศไทยมีเฉพาะเรื่องการห้ามเลือกปฏิบัติ เนื่องจากสาเหตุทางเพศเท่านั้น เรื่องผู้พิการก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ชัดเจนบอกเพียงว่าจะส่งเสริมสิทธิคนพิการเป็นหลัก รวมถึงเรื่องเด็กด้วย ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาสังคมซึ่งเป็นเครือข่ายของบุคคลต่างๆ เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้พิการ เด็ก แรงงานข้ามชาติ รวมทั้งกลุ่ม LGBTQ+ จึงเห็นว่าประเทศไทยควรต้องมีกฎหมายกลาง เพื่อทำให้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีผลในการบังคับจริงๆ 

สมชาย ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นเรื่องไปยังกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเห็นชอบด้วยว่าต้องมีคณะกรรมการจัดทำร่างขึ้นมา จนเกิดร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลฯ และเสนอถึงคณะรัฐมนตรีชุดที่แล้ว แต่กฎหมายฉบับนี้ไปติดอยู่ที่หน่วยงานบางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน ใช้เวลา 2-3 ปีแล้ว แม้คณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วจะเห็นชอบในหลักการ แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่ได้ส่งมาถึงสภาผู้แทนราษฎรเพื่อได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ภาคประชาสังคมได้เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ และได้เข้าชื่อราว 10,000 ชื่อ เสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากถูกพิจารณาว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จึงได้ส่งไปที่นายกรัฐมนตรีท่านที่แล้ว และติดอยู่ในขั้นตอนของนายกรัฐมนตรียังไม่ได้พิจารณาว่าเห็นชอบหรือไม่ ก่อนจะเสนอสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นปัจจุบันมีร่างกฎหมายเรื่องนี้ 2 ฉบับ ที่ยังติดอยู่และยังไม่มาถึงสภาผู้แทนราษฎร 

สมชาย ระบุว่า วันนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมของบุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติ จึงมายื่นหนังสือถึง ประธาน กมธ.การกฎหมายฯ ที่เห็นความสำคัญอยู่แล้วว่าการถูกเลือกปฏิบัติเป็นหนึ่งในเหตุผลที่นำไปสู่ความขัดแย้งจนเกิดเป็นความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอให้ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ และมีส่วนในการสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้รัฐบาลนำสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว หวังว่าจะมีผลในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ด้าน กมลศักดิ์ กล่าวว่า ขอบคุณนายสมชายและเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ยื่นหนังสือผลักดันร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติฯ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ด้วยที่ผ่านมากฎหมายรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีระบุการไม่ให้เลือกปฏิบัติ แต่ยังไม่มีกฎหมายลูกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ กมธ.การกฎหมายฯ จะรีบบรรจุเข้าวาระการพิจารณา เพื่อผลักดันเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และจะประสานงานกับกระทรวงยุติธรรมเพื่อให้เกิดผลสำเร็จกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ