ไม่พบผลการค้นหา
'อนุทิน' เมิน 'ชมรมแพทย์​' จี้นายกฯ​ ลาออกปม 8 ปี​ บอกไม่มีสาระ-ไม่อยากตอบโต้​ เชื่อ 'ประยุทธ์' ไม่ยี่หระเรื่องแค่​นี้ ลั่นไม่มีใครกดดันศาล รธน.ได้​ - บอกสถานการณ์โควิดไทยดีขึ้น เตรียมตัวประกาศเป็นโรคเฝ้าระวัง-ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​ ยุบศบค.

วันที่ 19 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล อนุทิน​ ชาญวีรกูล​ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข​ กล่าวถึงกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาเคลื่อนไหว ขอให้นายกรัฐมนตรี ลงจากตำแหน่งหลังครบวาระ 8 ปี​ โดยอ้างเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้า​ ว่า​ ก็เป็นการเคลื่อนไหวในนามส่วนตัว​ ชมรมแพทย์ชนบทก็เป็นเพียงองค์กรหนึ่ง​แต่ไม่ได้มีอะไรผูกพันกับกระทรวงสาธารณสุข​ ไม่ได้เป็นส่วนงานในกำกับดูแล ซึ่งเป็นเหมือนกับสมาคมที่ตั้งกันขึ้นมาเอง​คงใช้ความเป็นปัจเจกบุคคลในการทำความเห็นต่างๆ​ แต่กระทรวงสาธารณสุข​ ก็ไม่ได้รับฟังอะไร ซึ่งรับฟังแล้วไม่เข้าท่า

ส่วนการออกมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้​ เป็นการทำนอกเหนือขอบเขตด้านสาธารณสุขหรือไม่นั้น​ อนุทิน​ กล่าวว่า​ ตนเองไม่อยากไปตอบโต้​ โต้เถียง​ เพราะอะไรที่เขียนมาแล้วไม่มีสาระ​ ไม่มีความหมาย​ ไม่มีความผูกพัน ไม่ให้ความสนใจอยู่แล้ว​ กระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอยู่แล้ว​ และข้อความที่เขียนมามีมากมายก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตามอยู่แล้ว​ จึงอย่าไปสนใจ​ แต่มองว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิเสรีภาพ ของใครก็ตามในฐานะประชาชน​ จะเขียนอะไรก็ได้​ แต่ถ้าเข้าข่ายผิดวินัยข้าราชการ ก็มีผู้บังคับบัญชาดูแลจัดการไปเท่านั้นเอง

ขณะที่การออกมาเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบทจะเป็นการกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ในการพิจารณาวินิจฉัยวาระครบ 8 ปีของนายกฯ หรือไม่​ อนุทิน​ กล่าวว่า​ จะกดดันใครได้​ ไม่มี​ เพราะรัฐบาลทำงาน ซึ่งก็ไม่ใช่ชมรมนี้ชมรมเดียวที่ออกมากดดันนายกรัฐมนตรี​ พวกที่ออกมากดดันนายกรัฐมนตรีก็มีเช่นเดียวกับผู้ที่ออกมาสนับสนุนนายกรัฐมนตรี​ โดยตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังสนับสนุนนายกรัฐมนตรี​ ในความเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีได้มีการสอบถามเกี่ยวกับการออกมาเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบทหรือไม่​ อนุทิน​ กล่าวว่า​ นายกรัฐมนตรี​ ยังไม่ได้มีการสอบถามในประเด็นนี้​ "เรื่องแค่นี่​ ท่านไม่ยี่หระหรอก" โดยยกตัวอย่าง​ หากเกิดมีอธิบดีกรมควบคุมโรค​ มาเขียนด่ารัฐบาลแบบนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง​ และยังได้หันไปถาม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ว่าที่ปลัด สธ.คนใหม่ ว่าเคยทำหรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคตอบว่า​ "ไม่เคยทำ"

ส่วนจะให้ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ไปตักเตือนหรือไม่​ อนุทิน​ กล่าวว่า​ ถ้าไม่เกี่ยวกับงาน​ ก็เป็นสิทธิเสรีภาพ ซึ่งก็เข้าใจตรงนี้ เขาก็ทำหน้าที่ของเขา​เราก็ทำหน้าที่ของเราเขา​ ก็ทำหน้าที่ของเขา​ ใครทำอะไรไว้ก็มีผลของการกระทำนั้นทุกคนทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเป็นปกติอยู่แล้ว​ 

ส่วนการเตรียมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น อนุทิน กล่าวว่า ในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อฉบับแก้ไข ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมพิจารณา ส่วนการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากประกาศให้โควิด-19โรคเฝ้าระวังในวันที่ 1 ต.ค. เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ยกเลิก ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข​ จะต้องมีการเตรียมตัวอย่างเต็มที่โดยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในวันนี้จะมีการลดระดับจากโรคติดต่อร้ายแรงลงสู่โรคติดต่อที่เฝ้าระวัง หากจะมีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ทุกอย่าง ซึ่งถ้าหาก พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขไม่แล้วเสร็จก็จะต้องใช้กฎหมายเดิมที่บังคับใช้อยู่ 

พร้อมย้ำว่า​ เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันมีทั้งวัคซีนและยาเวชภัณฑ์ ซึ่งอัตราการเข้ารับการรักษาและเสียชีวิตลดลง เพียงร้อยละ 0.2 ก็เข้าข่ายเหมือนโรคอื่นๆทั่วไป จึงหมายความว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ โควิด-19 ได้ ดังนั้นทุกอย่างจะผ่อนคลายลงก็ต้องมีการเปิดมาตรการต่างๆให้เสรีมากขึ้น และลดระดับมาอยู่ที่การเฝ้าระวังและทำความเข้าใจและทำความเข้าใจกับประชาชนให้ป้องกันตนเองจากโรคระบาด และเมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วจะต้องมีการยุบ ศบค.ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข​ ก็จะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลในการดูแล ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ผ่านมาเป็นการเกิดที่ไม่ปกติ จึงต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์ดีขึ้น เมื่อสถานการณ์เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้วก็จะต้องกลับมาสู่ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่