ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลกยังไม่พบหลักฐานว่า 'ไมโครพลาสติก' ที่พบในน้ำเป็นอันตรายกับมนุษย์ แต่ยังต้องศึกษาต่อว่า แพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อมอย่างไร และเข้าไปในร่างกายของมนุษย์อย่างไร

รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO ระบุว่า การผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายในปี 2025 หมายความว่าจะมีเศษพลาสติกที่สลายลงเป็นไมโครพลาสติกหรือพลาสติกขนาดจิ๋วเพิ่มขึ้น และปนเปื้อนในน้ำ ท่อน้ำ แก้วน้ำ คอและกระเพาะของมนุษย์ รายงานนี้ระบุว่า น้ำดื่มในขวดก็ปนเปื้อนโพลิเมอร์ขนาดจิ๋วที่อยู่ในขวดและฝาขวด

ไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลว่า ร่างกายมนุษย์จะปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีที่ใช้ในพลาสติกหรือเชื้อโรคที่อยู่กับพลาสติก บางคนเตือนว่า ไมโครพลาสติกอาจะเข้าไปอยู่ในอวัยวะสำคัญๆ ของมนุษย์ และการที่อวัยวะมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปปริมาณมากอาจเป็นอันตรายกับมนุษย์ เหมือนกับที่นก ปลา หรือสัตว์ป่าตายเพราะมีขยะพลาสติกอยู่ในตัว

ปัจจุบันยังไม่มีการตกลงนิยามของไมโครพลาสติกที่ตรงกันทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่มักหมายถึงพลาสติกที่เส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร โดยรายงานนี้ระบุว่า กระบวนการบำบัดน้ำที่ดีก็สามารถกำจัดไมโครพลาสติกไปได้ถึงร้อยละ 90 แล้ว

WHO ระบุว่ายังไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าไมโครพลาสติก ที่อยู่ในน้ำเป็นอันตรายกับมนุษย์ แต่ WHO ก็เตือนว่ายังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะยังต้องวิจัยต่อไปอีก เพื่อทำเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า พลาสติกแพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร และเข้าไปในร่างกายของมนุษย์ได้อย่างไร

รายงานนี้ยังกล่าวว่า ไมโครพลาสติกที่ใหญ่กว่า 150 ไมโครเมตร หรือขนาดประมาณเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม เป็นไมโครพลาสติกที่น่ากังวลน้อยที่สุด เพราะเมื่อเข้าไปในร่างกายคนแล้ว มันจะถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกายได้เลย ไม่ถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย ขณะที่ไมโครพลาสติกที่เล็กกว่านั้นจะสามารถผ่านเข้าไปในผนังเซลล์ของระบบย่อยอาหารและติดอยู่ในนั้น นักวิจัยเชื่อว่า ไมโครพลาสติกที่สะสมในร่างกายจะไม่สูงจนอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

รายงานนี้สรุปว่า นักวิจัยก็ไม่ปฏิเสธว่า ในอนาคตอาจมีการศึกษาอื่นๆ ที่มายืนยันได้ว่าไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่จากหลักฐานที่มีอยู่อย่างจำกัด อันตรายจากสารเคมีและเชื้อโรคที่เกี่ยวข้องกับไมโครพลาสติกในน้ำดื่มที่มีต่อร่างกายมนุษย์อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ก็ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอจะสรุปได้อย่างชัดเจนว่า นาโนพลาสติกมีอันตรายหรือไม่ 

ผู้เขียนรายงานไม่แนะนำให้มีการเฝ้าระวังไมโครพลาสติกในน้ำดื่มบ่อยครั้ง แต่ควรทุ่มทรัพยากรไปกับการกำจัดความเสี่ยงที่พิสูจน์ได้แล้วอย่างแบคทีเรียและไวรัสฝนน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายกับมนุษย์ในระดับที่สูงกว่ามาก โดยปัจจุบัน มีคนมากกว่า 2 พันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด และเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1 ล้านคนต่อปี

บรูซ กอร์ดอน หนึ่งในทีมผู้เขียนรายงานแสดงความเห็นว่า ขณะที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพลาสติกจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ในอนาคต มาตรการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติกก็คือ ลดมลพิษจากพลาสติก ทยอยเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และส่งเสริมการรีไซเคิลและใช้วัตถุดิบอื่นๆ ทดแทนพลาสติก

 

ที่มา : WHO, The Guardian, BBC