ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐา' มอง 'ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีง ล็อกตัวเองนานเกินไป แนะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ พิจารณาปรับให้ยืดหยุ่น-คล่องตัวตามสถานการณ์โลก เพื่ออนาคตลูกหลานไม่ติดกับดักความคิดคนรุ่นเก่า

วันที่ 27 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2566 โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (สว.) และวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 

อีกทั้งผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.), ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), รองผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.), ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รวมไปถึงตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม และหอการค้า

เศรษฐา กล่าวในช่วงต้นของการประชุมว่า การประชุมนี้จะเป็นการวางกรอบโครงยุทธศาสตร์เพื่อให้รัฐบาล และคนทั้งประเทศ ได้รับรู้และทำงานเป็นทิศทางของประเทศไทยในอนาคต ตามแนวทางที่เราอยากให้เป็น และเพื่อรู้ว่าจะไปถึงภาพนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง

“การมีรัฐบาลที่มีกลยุทธ์ในการทำงานเป็นเรื่องที่ดีแต่ผมไม่เชื่อกับการวางแผน และล็อกตัวเองไว้ยาวนานเกินไป ไม่มีใครที่วางแผนไว้ยาวนานขนาดนี้ อย่าว่าแต่ 20 ปีเลย 5 ปีก็ยังทำยาก โลกนี้เปลี่ยนไปแล้ว และจะเปลี่ยนเร็วขึ้นเรื่อยๆ” เศรษฐา กล่าว

เศรษฐา กล่าวว่า จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งเมื่อ 6 - 10 เดือนที่แล้วเราอาจไม่เคยได้ยิน เรื่องพลังงานสะอาด ที่จะกำหนดทิศทางโลก รัฐบาลเดินทางไปเจรจาค้าขาย การเจรจาค้าขายเมื่อ 3 ปีที่แล้วไปดึงคนมาลงทุน ดูแต่เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่พวกท่านไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไหร่ ไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะ แต่เป็นเรื่องน่าละอายใจ ซึ่งสิ่งนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้วมันไม่มี

เศรษฐา กล่าวต่อว่า เรื่องเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์แย่งชิงคนเก่ง (War of Talent) ที่ทุกบริษัท ทุกรัฐบาล ทุกประเทศทั่วโลก ดึงดูดคนที่มีความสามารถไปทำงานกัน และยังเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่มีขึ้นมากในระยะหลัง โดยจีนกับสหรัฐอเมริกาใน 3 - 4 ปีที่แล้วก็ไม่ได้มีตรึงอำนาจเยอะขนาดนี้แต่ปัจจุบันมีสูงมากขึ้น

ดังนั้น เราต้องปรับยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับช่วงเวลาด้วย ตนเองอยากให้แผนยุทธศาสตร์นี้มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น ไปทำการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ของโลก ขอฝากที่ประชุมพิจารณารูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อทำให้ยุทธศาสตร์นี้ดำเนินการอย่างเป็นประโยชน์ และเกิดขึ้นจริง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและไม่ปิดกั้นอนาคตของประเทศชาติ

“เพื่อให้การตัดสินเส้นทางการพัฒนาของลูกหลานของพวกเราในอีก 20 ปีข้างหน้าไม่ถูกผูกมัดด้วยความคิดของคนรุ่นเราให้พวกเขาได้มีโอกาสปรับเข้าคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นมีโอกาสที่จะเลือกทิศทางในการวางยุทธศาสตร์ และก้าวไปพร้อมพร้อมกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป” เศรษฐา กล่าว