ไม่พบผลการค้นหา
โรงงานสิ่งทอกว่า 500 แห่งในบังกลาเทศ ซึ่งผลิตเสื้อผ้าให้แบรนด์ดังระดับโลกกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง 27 เม.ย. แม้ยังมีคำสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศเพื่อยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ 'อินเดีย' มีเสียงเรียกร้องเพิ่มขึ้นให้คลายมาตรการล็อกดาวน์ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ

โรงงานผลิตเสื้อผ้าในกรุงธากาและเมืองท่าอย่างเมืองจิตตะกอง ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการผลิตอีกครั้งวันนี้ โดย 'โมฮัมหมัด ฮาเท็ม' รองประธานของสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสิ่งถักทอของบังกลาเทศระบุว่า โรงงานต่างๆ มีมาตรการให้พนักงานต้องสวมหน้ากาก ล้างมือที่บริเวณทางเข้า ผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิและเว้นระยะห่างทางกายภาพ พร้อมให้เหตุผลว่าหากไม่เปิดโรงงานก็จะต้องเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศคู่แข่งของบังกลาเทศทั้งเวียดนาม จีน และกัมพูชาได้กลับมาเริ่มดำเนินการผลิตกันแล้ว นอกจากนี้ โรงงานต่างๆ ถูกกดดันจากแบรนด์ให้ผลิตสินค้าให้ทันกำหนดเส้นตายส่งออก และกลัวว่าอาจต้องเสียคำสั่งซื้อหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนาม

ชาวบังกลาเทศกว่า 4 ล้านคน ทำงานอยู่ในโรงงานสิ่งทอหลายพันแห่งทั่วประเทศ โดยเมื่อปีที่แล้วการส่งออกเสื้อผ้าสิ่งทอเหล่านี้มีมูลค่ามากถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน แต่รายงานระบุว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ทั่วโลก รวมถึงทำให้คนจำนวนมากต้องตกงานส่งผลให้ความต้องการในสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารหายไป ซึ่งรวมถึงความต้องการในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายด้วย นี่ทำให้แบรนด์เสื้อผ้าและผู้ค้าปลีกระดับโลกที่พึ่งพาแรงงานราคาถูกในบังกลาเทศยกเลิกหรือระงับคำสั่งซื้อมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นรายได้สำคัญของประเทศ โรงงานต้องปิดทำการเมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

ด้านคนงานโรงงานสิ่งทอบางส่วนบอกว่า แม้จะกลัวติดเชื้อไวรัสเมื่อต้องกลับไปทำงาน แต่ก็กังวลมากกว่าว่าจะตกงานและไม่มีค่าจ้าง ขณะที่นักสิทธิแรงงานแสดงความกังวลว่า การกลับไปทำงานอาจทำให้จำนวนผู้้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และผลกระทบอาจเลวร้ายกว่าเหตุการณ์ตึกรานา พลาซ่า ซึ่งเป็นอาคารโรงงานสิ่งทอพังถล่มเมื่อปี 2556 ที่ทำให้คนงานเสียชีวิตไป 1,130 ราย

ทั้งนี้ บังกลาเทศมีประชากรประมาณ 168 ล้านคน โดยล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศอยู่ที่กว่า 5,400 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 145 ราย 

ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ซึ่งยังคงมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศถึงวันที่ 3 พ.ค. นายกรัฐมนตรี 'นเรนทรา โมดี' ได้เริ่มหารือกับมุขมนตรีของ 28 รัฐ เพื่อตัดสินใจว่ามาตรการควบคุมใดบ้างที่ควรต้องดำเนินต่อ ซึ่งมุขมนตรีรัฐราชสถานระบุว่า การขยายมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวดใดๆ ก็ตามอาจนำไปสู่ความอดอยากของประชาชน และรัฐบาลควรอนุญาตให้เริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ได้รับผลกระทบน้อย โดยมีพื้นที่ 300 เขตจาก 730 เขตของอินเดียที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มุขมนตรีรัฐราชาสถานยังกล่าวว่าเขาไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีคนตายจากไวรัสอีกกี่คน แต่หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อ ประชาชนจะตายเพราะความหิวโหย  

รายงานระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในอินเดียล่าสุดอยู่ที่ 27,977 ราย เป็นจำนวนที่มากที่สุดในเอเชียรองจากจีน และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 884 ราย รัฐบาลอินเดียระบุว่ามาตรการล็อกดาวน์ทำให้สถานการณ์การระบาดในประเทศดีขึ้น ตอนนี้ใช้เวลา 10 วัน กว่าที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นสองเท่าตัว ขณะที่เมื่อเดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นสองเท่าด้วยเวลา 3.6 วัน 

อ้างอิง CNA/AFP