ไม่พบผลการค้นหา
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1269/2565 เรื่อง มอบหมายและมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รายละเอียดมีดังนี้

ข้อ 1. มอบหมายและมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดังนี้

1.1 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทน เกี่ยวกับราชการของสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร สำนักการคลัง สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการคลัง ฝ่ายรายได้ ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทะเบียน และฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ

1.2 รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทน เกี่ยวกับราชการของสำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และสำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายโยธา

1.3 ผศ.ทวิดา กมลเวชช มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทนเกี่ยวกับราชการของสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และสำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล

1.4 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทนเกี่ยวกับราชการของสำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว การพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการศึกษาและโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม

ข้อ 2. ในกรณีที่รองผู้ว่าฯ ในลำดับใดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองผู้ว่าฯ ในลำดับถัดไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1. มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทน ส่วนกรณีรองผู้ว่าฯ ในลำดับที่ 1.4 ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองผู้ว่าฯ ในลำดับที่ 1.1 มีอำนาจในการสั่งหรือการปฏิบัติราชการแทน ยกเว้นผู้ว่าฯ จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ข้อ 3. การสั่ง และการปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯ เกี่ยวกับราชการของหน่วยงานหรือส่วนราชการที่ได้รับมอบหมายในข้อ 1. ให้รองผู้ว่าฯ เสนอผู้ว่าฯ เป็นผู้พิจารณาสั่งการในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่ผู้ว่าฯ จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

3.1 งานที่รองผู้ว่าฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องงานนโยบาย หรืองานที่เป็นเรื่องสำคัญ และอาจมีผลกระทบต่อความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่กรุงเทพมหานคร หรือแก่ราชการโดยส่วนรวม หรือแก่การรักษาความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชนโดยรวม

3.2 การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน การดำเนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ของข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ

3.3 การเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการ

3.4 เรื่องเสนอสภากรุงเทพมหานคร รัฐสภา รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี

ข้อ 4. ในกรณีที่ผู้ว่าฯ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองผู้ว่าฯ เป็นผู้รักษาราชการแทน ดังนี้ ลำดับที่ 1 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม ลำดับที่ 2 รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล ลำดับที่ 3 ผศ.ทวิดา กมลเวชช และลำดับที่ 4 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ

ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 55 และมาตรา 81 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 เพื่อให้การปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

ทีมรองผู้ว่าฯ


ทั้งนี้ สำหรับประวัติเบื้องต้นของรองผู้ว่า 4 คน มีดังนี้

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม เป็นอดีตรองผู้ว่าฯกทม. ยุค พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เริ่มรับราชการจากการเป็นนักสถิติ 3-5 งานวิจัยทางผังเมือง เป็นหัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯกทม. เป็น ผอ.เขตบางกอกใหญ่ เขตจอมทอง จตุจักร ทวีวัฒนา และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองปลัด เหตุที่นายจักกพันธุ์ยังมีประวัติเป็น "รองผู้ว่าฯกทม." ด้วย เพราะหลังจากเกษียณอายุได้ 19 วัน พล.ต.อ.อัศวิน ทาบทามให้มาดำรงตำแหน่งนี้ ได้รับมอบหมายรับผิดชอบ 6 หน่วยงาน แต่ทำงานได้ระยะหนึ่ง มีเหตุต้องลาออก เพราะไม่ยอมเซ็นอนุมัติโครงการ "เตาเผาขยะหมื่นล้าน" เป็นโครงการเตาเผาขยะ จำนวน 2 โรง ที่หนองแขม และอ่อนนุช

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล ผู้อำนวยการสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีด้านบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ, ผู้ช่วยอธิการบดีด้านพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จุฬาฯ, ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจามจุรี จำกัด, กรรมการอิสระ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการอิสระ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

น.ส.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ รวมถึงการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายสาธารณะ การจัดการความเสี่ยงต่างๆ 

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง SATARANA (สาธารณะ) เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานเรื่องการพัฒนาเมือง และเป็นหนึ่งในทีมกลุ่มเมล์เดย์ (Mayday) ผู้ออกแบบปรับปรุงป้ายหยุดรถเมล์รูปแบบใหม่ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Trawell และเจ้าของกิจการ Once Again Hostel และ Luk Hostel และ Locall.bkk แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ เคยเป็นอดีตนายกสโมสรนิสิต พ.ศ.2553 

ทีมเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ ประกอบด้วย นายภิมุข สิมะโรจน์ นายเอกวรัญญู อัมระปาล นางสาวศนิ จิวจินดา นายจิรัฏฐ์ ม้าไว นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์

คณะที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. 9 คน ประกอบด้วย 1.นายต่อศักดิ์ โชติมงคล (ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.) 2.นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ 3.พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก 4.พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ 5.พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี 6.น.ส.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ 7.นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี 8.นายภาณุมาศ สุขอัมพร และ 9.นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาที่ได้รับการพูดถึงมากได้แก่ ล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ซึ่งในปี 2545 เป็นผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ปี 2547 เป็นรองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม และขึ้นเป็นเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ในปี 2549 มีบทบาทสำคัญในการสู้คดีเขาพระวิหาร ในปี 2554 เป็นผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ปี 2555 รองปลัดกระทรวงกลาโหม และในปี 2556 ได้รับการแต่งตั้งเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม ปี 2557 เป็นประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และได้รับแต่งตั้งเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในปี 2557