ไม่พบผลการค้นหา
'ธาริต' ฟังคำพิพากษาศาลฎีกา เตรียมยื่นคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษา แฉหลังปฏิวัติมีการตั้งคณะทำงานชุดพิเศษ เข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ชี้อดีตประธาน-ผู้พิพากษาศาลฎีกา พวกเดียวกับ 'สุเทพ และ กปปส.' หวังขอความเป็นธรรม ด้าน 'ทนายสุเทพ' มองปมแถลง 'บิ๊กทหาร' เอี่ยวคดีไม่มีผล

วันที่ 10 ก.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 10 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และพวกรวม 4 คน คือ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 ,พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา กรณี ธาริต กับพวก แจ้งข้อหาดำเนินคดี อภิสิทธิ์ และ สุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชนในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 

โดย ธาริต เดินทางมาที่ศาล เวลา 08.45 น. ด้วยท่าทีที่เรียบเฉย ก่อนให้สัมภาษณ์ว่า ตนจะขอเปิดเผยข้อมูลลับในสิ่งที่ไม่เคยพูด ซึ่งภายหลังการปฏิวัติได้มีการตั้งคณะทำงานชุดพิเศษ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่และพลเรือน เข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ในการคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต 99 ศพและผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ทันที ซึ่งชุดพิเศษดังกล่าวได้ทำงานอย่างประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่เป็นธรรมและถูกต้อง เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่สามารถเอาผิดใครได้แม้แต่รายเดียว รวมถึงไม่มีคดีใดอยู่ในการพิจารณาของศาลเลย แม้ผ่านมา 13 ปี นอกจาก 27 ศพ ที่ถูกยิงเสียชีวิต แต่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง คือไม่มีการทำความผิดและพนักงานสอบสวนสั่งยุติคดีโดยอ้างว่าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด 

ส่วนกรณีที่มีคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาวิจารณ์ ตนกล่าวหาว่าเลอะเลือน ภายหลังการแถลงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ธาริต ระบุว่า คดีดังกล่าวแบ่งเป็น 2 ส่วน มีทั้งฝ่าย นปช. แล้วฝ่าย ศอฉ.ที่สั่งการทหาร ฉะนั้นมองว่าการที่ออกมาพูดแบบนี้เป็นการบิดเบือนอย่างร้ายแรง และไม่เคารพผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในคดีดังกล่าว 

ธาริต ยังเปิดเผยอีกว่า ถ้าวันนี้ศาลฎีกายืนตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ จะเป็นการยืนยันรับรองว่า อภิสิทธิ์ และ สุเทพ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องที่สั่งการให้ทหารทำร้ายประชาชน ชอบและถูกกฎหมาย แล้วบอกว่าผู้ตายและผู้บาดเจ็บจะไม่ได้รับความยุติธรรม และไม่ได้รับการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายอีกเลย เพราะมองว่าผลคำพิพากษาเท่ากับว่าเขาสมควรตาย แล้วตนกับพวกต้องรับโทษจำคุก

ดังนั้นวันนี้ ตนก็ต้องใช้สิทธิ์ตามกฎหมายเรียกร้องความยุติธรรมให้ถึงที่สุด หลังจากที่ได้รับข้อมูลใหม่ซึ่งน่าเชื่อว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ยังไม่ได้อ่าน มีข้อโต้แย้ง ซึ่งตนจะต้องใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย โดยมีผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนหนึ่ง รวมถึงอดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นองค์คณะที่เกี่ยวข้องกับการทำคำพิพากษาและมีความเกี่ยวข้องกับ สุเทพ และกลุ่ม กปปส. ซึ่งตนมองว่าเป็นพวกเดียวกัน โดยในเอกสารได้ระบุชื่อคนที่เกี่ยวข้องไว้แล้วแต่ไม่สามารถเปิดต่อสาธารณะได้

ดังนั้นวันนี้ช่วงเช้าตนจึงขอใช้สิทธิตามกฎหมาย ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อโต้แย้งคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอดีตประธานศาลฎีกา ที่เกี่ยวข้องกับ กปปส. และขอให้ประธานศาลฎีกาคนใหม่ และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีคำทบทวน และถ้าองค์ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตัดสินมาอย่างไร ตนจะยอมรับโดยดุษฎี

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ตนได้เปิดเผยว่ามีนายทหารผู้ใหญ่ให้ยุติทำคดี นั้นคือใคร ธาริต ระบุว่า เรื่องนี้ตนไม่ขอเอ่ยชื่อ เกรงว่าบ้านเมืองจะไม่สงบและจะรุนแรงขึ้น แล้วอาจเกิดจากการชุมนุม หากเกิดการชุมนุมก็จะไปกันใหญ่ ซึ่งตนไม่ได้อยากสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง แต่ยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวร่วมอยู่ในคณะปฏิวัติ

ด้าน สวัสดิ์ เจริญผล ทนายความที่ได้รับอำนาจจาก สุเทพ ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมฟังคำพิพากษา ว่า กรณีที่ ธาริต แถลงเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เป็นคนละประเด็นกับคดีดังกล่าว ศาลได้ระบุไว้แล้วว่าเหตุการณ์ปี 53 ในสำนวนระบุไว้ว่ามีอาวุธและความร้ายแรง และเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายนปี 2553 เราก็เห็นอยู่แล้วมีกองกำลังใช้อาวุธยิงเจ้าหน้าที่ทหาร และพอเปลี่ยนรัฐบาลกระทำสำนวนว่าการชุมนุมของ นปช. และไม่มีอาวุธ ส่วนเหตุที่มีการตายเกิดขึ้น อ้างว่า อภิสิทธิ์ และ สุเทพ สั่งให้นำทหารออกมา ซึ่งตรงนี้ศาลอุทธรณ์ได้ระบุไว้ว่า การทำสำนวนในตอนแรกมีการสั่งฟ้องข้อหาก่อการร้ายกับกลุ่ม นปช. ซึ่งเห็นอยู่แล้วว่า อภิสิทธิ์ กับ สุเทพ ไม่มีความผิด แต่ตอนหลังกลับคำในสำนวน ซึ่งพฤติกรรมสำคัญในประเด็นดังกล่าวอยู่ตรงนี้

ส่วนการแถลงข่าวของ ธาริต ตนไม่ขอแสดงความคิดเห็นและคิดว่าไม่เกี่ยวกับคดีดังกล่าว แม้เป็นเรื่องที่พูดอาจจะมีต้นสายปลายเหตุมาจากการชุมนุมครั้งเดียวกัน และไม่รู้ว่ามีเหตุผลอะไรถึงออกมาพูด 

ส่วนกรณีที่ ธาริต อ้างว่าการรับสารภาพในครั้งนั้นเป็นการรับสารภาพแบบมีเงื่อนไข ซึ่งข้อเท็จจริง ในศาลว่าอย่างไรนั้น สวัสดิ์ ทนายความของสุเทพ ยืนยันว่า ไม่ใช่ เพราะ ธาริต รับสารภาพและพร้อมชดใช้ค่าเสียหายให้กับ อภิสิทธิ์ ซึ่งทางโจทก์ยื่นฟ้องก็ได้โต้แย้งไปแล้วว่าล่วงเลยเวลาในการรับสารภาพ รวมถึงเงินจำนวนดังกล่าว อภิสิทธิ์และสุเทพไม่ขอรับเงินดังกล่าวด้วย

ส่วนกรณีที่ศาลจะเห็นว่าศาลจะมองว่าผิดหรือไม่ ตนไม่กังวลเพราะศาลมีมาตรฐานอยู่แล้ว 

เมื่อถามว่า ธาริต พูดไม่ตรงใช่หรือไม่ สวัสดิ์ ทนายความ มองว่า เท่าที่ตนดูมันไม่มีเงื่อนไขในการขอรับสารภาพ เพียงแต่ยื่นหลักฐาน และมีคำรับสารภาพด้วย ส่วนตรงหรือไม่ตนไม่สามารถตอบแทนนายธาริตได้

และหลังจากที่ ธาริต ออกมาแถลง สุเทพ ก็ไม่ได้มีการมาพูดหรือโต้แย้งอะไร


สำหรับคำชี้แจงของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ ระบุดังนี้

คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ศาลอาญาได้นัดอ่านในเช้าวันนี้ จะมีผลสำคัญอย่างใหญ่หลวงมาก ดังที่ข้าพเจ้าได้แถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เพราะหากจะพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วจะมีผลสำคัญมาก 3 ประการ คือ

1. จะเป็นการรับรองยืนยันหรือการันตีว่านายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ไปยิงทำร้ายประชาชนโดยชอบแล้วทุกประการ

2. ผู้ตาย 99 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน และญาติผู้ตายจะไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหายอีกเลย เพราะผลจากคำพิพากษาเช่นนั้นเท่ากับพิพากษาว่าเขาเป็นผู้สมควรตายและ

3. นายธาริต ฯ กับพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิดต้องรับโทษจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับ 99 ศพ และตัวข้าพเจ้าเองกับพนักงานสอบสวนที่ถูกฟ้องอย่างถึงที่สุด

บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับทราบข้อมูลมาเป็นที่น่าเชื่อว่า ในการทำคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาและยังมีข้อโต้แย้งจากจำเลยคือข้าพเจ้าและญาติผู้ตายอยู่นั้น

มีผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนหนึ่งรวมถึงอดีตประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นองค์คณะและหรือเกี่ยวข้องเกี่ยวพันในการทำคำพิพากษามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งมีนายสุเทพ ฯ โจทก์ที่ 2 ในคดีนี้เป็นหัวหน้าหรือประธานกลุ่ม กปปส. โดยเป็นฝักไฝ่และเป็นฝ่ายเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ นายสุเทพ ฯ กับพวก กปปส. ก็ได้ยื่นฟ้องข้าพเจ้าต่อศาลอาญาคดีทุจริตกลางเป็นอีกคดีหนึ่งว่าที่ข้าพเจ้าดำเนินคดีกับนายสุเทพ ฯ และกลุ่ม กปปส. จนศาลอาญาลงโทษจำคุกไปมากว่า 10 คนนั้น เป็นเพราะถูกข้าพเจ้ากลั่นแกล้ง จึงน่าเชื่อว่าการทำคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้จะไม่เป็นไปโดยถูกต้องและไม่เป็นธรรม

ฉะนั้นเมื่อ 08.30 น. ของวันนี้ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโต้แย้งคำคัดค้านองค์คณะและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอดีตประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาโดยขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลฎีกา เพื่อให้มีกระบวนการโดยรวมถึงประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน นำเอาการพิจารณาทำคำพิพากษาคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และไม่ว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้พิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่จะออกมาเป็นอย่างใด ข้าพเจ้าพร้อมจะยอมรับว่าได้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ตาย 99 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 คน รวมถึงนายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้าพเจ้าอย่างแท้จริง

และจากการที่ข้าพเจ้าได้ยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้ทำคพิพากษาดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องอีก 1 ฉบับ ขอให้บรรดาคำร้องที่สำคัญที่ได้มีการยื่นไว้ในคดีนี้คือคำร้องของญาติผู้ตายขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 และคำร้องที่ข้าพเจ้าขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 157 และมาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับลงโทษในคดีนี้ไม่ได้นั้น ข้าพเจ้าร้องคัดค้านและโต้แย้งว่ากลุ่มผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นจะพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวทุกฉบับไม่ได้ โดยข้าพเจ้าร้องขอให้ผู้ที่จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสั่งคำร้องทุกฉบับคือที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นกัน

 การยื่นคำร้องคัดค้านโต้แย้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตประธานศาลฎีกา และผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวมานี้เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 3818/2533 วางบรรทัดฐานรับรองและคุ้มครองสิทธิให้กระทำได้ และไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมขององค์กรศาลยุติธรรมในภาพรวมและเชื่อว่าศาลอาญาจะได้ส่งคำร้องขอทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวที่ข้าพเจ้าได้ยื่นในเช้านี้ไปยังศาลฎีกาและทางศาลฎีกาจะได้มีกระบวนการพิจารณาคำร้องขอของข้าพเจ้าอย่างเป็นธรรม โดยท่านประธานศาลฎีกาท่านปัจจุบันจะได้เห็นชอบให้ การทำคำพิพากษาและการพิจารณาสั่งคำร้องทุกเรื่องได้เข้าสู่การพิจารณาและจัดทำโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต่อไป

 นายธาริต เพ็งดิษฐ์

10 กรกฎาคม 2566