วันที่ 20 มี.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 วันแรกของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 วาระที่ 2-3 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว หลังจากสมาชิกและกรรมาธิการฯ ที่สงวนความเห็นได้อภิปรายในงมาตรา 4 ว่าด้วยงบประมาณในภาพรวมแล้วเสร็จ
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ ปี 2567 เสียงข้าง ได้กล่าวชี้แจง และยืนยันตามมติของคณะกรรมาธิการฯ โดยระบุว่า สำหรับข้อกังวลของสมาชิกเรื่องงบประมาณไปพลางก่อน ไม่ใช่อำนาจของสำนักงบประมาณเพียงถ่ายเดียว แต่เป็นไปตามกลไกทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และต้องผ่านการอนุมัติของนายกรัฐมนตรี รวมถึงรับทราบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
สาเหตุที่ต้องใช้งบประมาณไปพลางก่อน ก็เนื่องจากติดเงื่อนไขเรื่องเวลาการจะทำงบประมาณที่ไม่ทันท่วงที แต่มีข้อดีคืองบประมาณดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาชุดที่แล้ว และมีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ว่า สามารถใช้ได้ในวงเงินไม่เกิน 2 ใน 3 ของแผนงาน เพื่อให้ครอบคลุมถึงงบประมาณที่จำเป็นต้องจ่ายในแต่ละประเภท เช่น งบประจำ อย่างเงินเดือนของข้าราชการ เป็นต้น
โดยก่อนหน้านี้ ครม. ก็ได้มีมติเห็นชอบให้ทบทวนปรับปรุงคำของบประมาณเดิม ให้สอดคล้องกับนโยบายที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา ขั้นตอนเป็นไปตามกรอบกฎหมาย และรายจ่ายประกอบไปด้วย 3 สิ่งสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ ค่าใช้จ่ายตามข้อผูกพัน และค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน รวมกันละประมาณ 2.5 ล้านล้านบาทเศษ ซึ่งล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่มีความจำเป็นต้องตั้งไว้ก่อน
"สิ่งที่ได้ผูกพันและดำเนินการไปแล้วกว่า 60% ส่วนใหญ่ บรรจุอยู่ในเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งเราไม่สามารถล่าช้า หรือเลื่อนกำหนดได้ จำเป็นต้องใช้งบไปพลางก่อนเพื่อให้ออกทันใช้จ่ายจริง"
สำหรับข้อห่วงใยเรื่องรัฐบาลทำงบประมาณขาดดุล จุลพันธ์ ชี้แจงว่า ในสภาวะของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา กลไกงบประมาณขาดทุนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้รัฐบาลมีกำลังในการพัฒนาประเทศและดูแลพี่น้องประชาชนในมิติต่างๆ แต่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการลดขนาดของการขาดดุลงบประมาณลง เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 68 จำนวน 7.13 แสนล้านบาท ลดลงปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 0.2 เปอร์เซนต์ของ GDP
หากในระยะต่อไปรัฐบาลสามารถทำให้มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเต็มศักยภาพ ตามเป้าหมายที่วางไว้คือ 5% ภาครัฐก็สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังได้ และบริหารทั้งรายได้และหนี้สาธารณะให้เกิดความเหมาะสม ความเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายต่างก็ตั้งความหวังว่ารัฐบาลจะสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ ในระยะเวลาที่เหมาะสม
ขณะที่สมาชิกบางส่วนห่วงใยถึงงบประมาณของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ไม่ได้อยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จุลพันธ์ ระบุว่า ขอขอบคุณในความห่วงใย แต่ยืนยันว่า ทุกโครงการของรัฐบาล ยังจะเดินหน้า แต่ในระดับของนโยบาย ก็ยังมีความจำเป็นจะต้องกู้ผ่าน พ.ร.บ. และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็จะมารับฟังความเห็นจากสมาชิกอีกครั้ง
จุลพันธ์ ยังยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเดินหน้า ส่วนการนิรโทษกรรมนั้น ก็อยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งก็ต้องฝากไว้ในมือของพวกท่านในการไปศึกษาหาความเหมาะสม เพราะทั้งสองเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน จำเป็นต้องมีการพูดคุยกันเพื่อหาความลงตัวเหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ จุลพันธ์ ยอมรับว่า ในเรื่องของการจัดทำงบประมาณแบบ Zero-base Budgeting นั้น รัฐบาลมีความตั้งใจจะทำ แต่เนื่องจากมีเวลาทำงานน้อยอีกทั้งประมาณก็ล่าช้า การจะทำในปีแรกเลยอาจจะเป็นไปได้ยาก ในปีต่อไปก็มีแนวคิดจะนำระบบ Zero-base Budgeting มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
จากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมากในมาตรา 4 เห็นชอบให้ไม่มีการแก้ไข ตามเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการฯ โดยมีเสียงเห็นชอบ 262 เสียง และไม่เห็นน้อย 140 เสียง