ไม่พบผลการค้นหา
'พรรคก้าวไกล' จัด "Hackathon งบฯ 66" 'ไอติม พริษฐ์' ชี้รัฐจัดงบไม่ตอบโจทย์ประเทศ หวังใช้เครื่องมือตรวจสอบ-ดึงการมีส่วนร่วม สร้าง “งบประมาณก้าวไกล” ฉายภาพก่อนเลือกตั้งใหญ่เรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน ด้าน 'ศิริกัญญา' เผย 5 ส่วนงบฯ ที่ทำให้ใช้ได้จริงยิ่งน้อยเมื่อเทียบกับวิกฤตประเทศ ชี้โครงการเบี้ยหัวแตกเต็มไปหมด

ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรม "Hackathon งบ 66 : ร่วมออกแบบ #งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่เราอยากเห็น" ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งเป็น ปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และให้ประชาชนได้ร่วมออกแบบงบประมาณฉบับพรรคก้าวไกล โดยผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

LINE_ALBUM_220528_10.jpg

ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นหนึ่งในสิ่งที่บ่งบอกโครงสร้างของประเทศด้านการจัดสรรเงิน ว่าหลังจากรัฐบาลเก็บภาษีจากประชาชนแล้ว ได้นำไปใช้จ่ายหรือลงทุนกับอะไร และประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญ 2 โจทย์สำคัญที่งบปี 66 ต้องตอบโจทย์ให้ได้ ได้แก่ โจทย์เฉพาะหน้า เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด และ โจทย์แห่งยุคสมัย คือความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมทั้งของไทยและของโลก เช่น สังคมสูงวัย ภาวะโลกรวน และผลกระทบของเทคโนโลยีต่อความเหลื่อมล้ำ

"งบฯ ปี 2566 มีปัญหา 3 ส่วนที่คิดว่ายังไม่ตอบโจทย์เหล่านี้ ได้แก่ 1.ขนาดงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท ที่สูงขึ้นจากปีที่แล้วแค่ 2.7% และต่ำกว่างบฯ ปี 2563 หรือช่วงก่อนวิกฤต เพียงพอหรือไม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะฝืดเคืองและบรรเทาปัญหาของประชาชน ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเลือกเพิ่มวงเงินงบประมาณ

LINE_ALBUM_220528_14.jpg

2. การจัดลำดับความสำคัญของภารกิจ ซึ่งเราสังเกตว่าอาจมีการจัดลำดับความสำคัญที่ยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งโจทย์เรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องการเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ เพื่อมาเสริมการส่งออกหรือการท่องเที่ยวที่ถูกกระทบจากโควิด แต่งบลงทุนปี 2566 เพื่อพัฒนาประเทศกลับลดลง 10% และส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการสร้างถนนมากกว่าสร้างอุตสาหกรรมใหม่ หรือ โจทย์เรื่องสวัสดิการ ที่ยังไม่มีการตั้งงบเพื่อยกระดับเบี้ยผู้สูงอายุอย่างถาวร เพื่อจัดสรรเบี้ยเด็กแรกเกิดอย่างถ้วนหน้า หรือ เพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ที่สูญเสียไปของนักเรียนจากช่วงโควิด

3. เราเลือกหน่วยงานที่เหมาะสมกับการขับเคลื่อนภารกิจหรือไม่ เช่น โจทย์ความมั่นคง ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบหลากหลายมากขึ้นกว่าแค่การทหารที่เราอาจคุ้นเคยในอดีต เช่น ภาวะโลกรวน แต่ถ้าเราไปดูการจัดสรรงบประมาณตามภารกิจความมั่นคง จะเห็นว่ารัฐบาลอาจยังตีความความมั่นคงในรูปแบบเดิม งบฯกระทรวงกลาโหมปีนี้ลดลงจริงในภาพรวม แต่งบฯ บุคลากรกลาโหมเพิ่มขึ้น 2,400 ล้านบาท ขณะที่งบที่ถูกจัดสรรในแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อรับมือผลกระทบจากภาวะโลกรวน มีเพียง 1,574 ล้านบาท" พริษฐ์ กล่าว

LINE_ALBUM_220528_12.jpg

พริษฐ์ กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของพรรคก้าวไกลในปีนี้ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนมีการเลือกตั้งในปีหน้า นอกจากเราจะ "ตั้งคำถามกับรัฐบาล" เพื่อตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น เรายังต้องการสื่อสารและ "ตั้งความหวังกับประชาชน” เพื่อฉายภาพให้เห็นชัดว่าถ้าก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะจัดสรรงบประมาณแบบไหน ซึ่งกว่าจะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องมี 2 องค์ประกอบ หนึ่งคือเครื่องมือวิเคราะห์งบที่ดี เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ และ สองคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นเหตุผลในการจัดกิจกรรมวันนี้ เพื่อนำไปสู่งบประมาณฉบับก้าวไกล ที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้นว่านโยบายเราทำได้จริง และอยู่บนพื้นฐานของตัวเลขที่ถูกคิดมาอย่างรอบคอบ โดยตัวชี้วัดความสำเร็จของการจัดสรรงบประมาณที่เราอยากเห็น คือเมื่อประชาชนทั่วประเทศ ไม่รู้สึกเสียดาย แต่รู้สึกภูมิใจที่ได้จ่ายภาษี

LINE_ALBUM_220528_8.jpg

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ 3.185 ล้านล้านบาท นั้น ถือว่าไม่เยอะเมื่อเทียบกับปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ทั้งยังเป็นการจัดสรรงบฯ ที่น้อยกว่าตอนเกิดวิกฤตโควิดเสียอีก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่างบฯ โดยรวมเหลือน้อยและที่ใช้ได้จริงนั้นก็ยิ่งน้อยมากเพราะมีภาระงบประมาณที่ตัดได้ยาก หรือต้องทำตามกฎหมายในแต่ละปี พบว่าส่วนใหญ่ที่สุด 40 เปอร์เซ็นต์ถูกใช้จ่ายไปกับค่าใช้จ่ายของบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทน สวัสดิการข้าราชการที่มีแนวโน้มว่าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในส่วนของสวัสดิการข้าราชการ, ส่วนที่ 2 ที่ตัดไม่ได้ คือ งบชำระหนี้และดอกเบี้ย ที่ในอนาคตจะสูงขึ้นเพราะหลายประเทศทั่วโลกปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ซึ่งจะกระทบอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลไทยกู้ยืมมาด้วยเช่นกัน

ส่วนที่ 3 คือเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเป้าว่า 25 เปอร์เซ็นต์เป็นขั้นต่ำที่จะแบ่งรายได้ให้กับท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงมีภารกิจหลายเรื่องที่ท้องถิ่นไม่ได้คิดหรือมีอิสระทางการเงิน แต่เป็นเพียงแค่ท่อผ่านงบประมาณ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้รัฐบาลฉลาดแกมโกงเอาไปเป็นรายได้ให้ซึ่งเหมือนจะทำให้ถึงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการโครงสร้างที่ผิดและบิดเบี้ยวมาก

ส่วนที่ 4 คือในส่วนของสวัสดิการที่รัฐบาลต้องจัดสรรตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม ซึ่งส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุประชากรในวันที่เราเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว

และสุดท้าย ส่วนที่ 5 คือ ภาระผูกพัน ซึ่งเป็นหนี้เดิมที่มาจากรัฐบาลได้เคยตั้งโครงการไว้ และจะรวมกับก้อนใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นมาในปีนี้ด้วย

LINE_ALBUM_220528_6.jpg

"ดังนั้น เมื่อดูรายจ่ายทั้ง 5 ส่วนนี้ ทำให้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ที่ 3.185 ล้านล้านบาทนั้น ใช้ได้จริงแค่ 9.3 แสนล้านบาทเท่านั้น และพื้นที่ทางการคลังของรัฐบาลตรงนี้ยังต้องเอาไปใช้กับโครงการใหญ่ๆ ที่จะเริ่มโครงการในปีนี้อีก เช่น ถนน 5.4 หมื่นล้าน, น้ำ 3.6 หมื่นล้าน, ใช้หนี้อื่นๆ 6 หมื่นล้าน และอาวุธ 1.6 หมื่นล้าน ซึ่งหมายความว่างบประมาณที่รัฐบาลเหลือใช้จริงๆ ที่จะเอามาคิดโครงการต่างๆ มีไม่ไม่ถึง 1ใน 3 ของงบประมาณประเทศปีนี้ ทั้งๆ ที่ปัญหาของประเทศมีอยู่อย่างมากมาย และเงินก้อนนี้ก็ต้องแบ่งกันใช้ 362 หน่วยราชการ 30 กองทุนหมุนเวียน 37 องค์การมหาชน และ 25 รัฐวิสาหกิจ ซึ่งรวมแล้วกว่า 400 หน่วยงาน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ มีแต่โครงการที่เป็นเบี้ยหัวแตกเต็มไปหมด จะไม่สามารถตอบโจทย์ใหญ่ๆ ของประเทศได้ แต่จะมีแต่โครงการอบรมสัมมนา ดูงาน ที่ประเมินผลไม่ได้เต็มไปหมด" ศิริกัญญา กล่าว

LINE_ALBUM_220528_5.jpg

สำหรับกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 -29 พฤษภาคม ซึ่งนอกจะมีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ แล้ว ยังมีเวิร์คชอป ร่วมตรวจสอบงบฯ ปี 2566 กับ ส.ส. และทีมนโยบายของพรรค ตามหัวข้อที่แต่ละคนสนใจ อาทิ เศรษฐกิจ การศึกษา สวัสดิการ ท้องถิ่น โดยแต่ละกลุ่มจะร่วมกันออกแบบด้วยว่าอยากเห็นงบประมาณใช้ไปกับเรื่องอะไรด้วย