นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หนึ่งในทีมทำงานร่างนโยบายรัฐบาล กล่าวว่า ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ได้ส่งนโยบาย ของแต่ละพรรคมาที่พรรคพลังประชารัฐแล้ว ซึ่งพรรคพลังประชารัฐ จะเตรียมรวบรวมนโยบายทั้งหมดเพื่อเขียนเป็นร่างนโยบายรัฐบาล โดยจะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์หน้าจะเชิญตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล มาหารือถึงการร่างนโยบาย สำหรับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่คิดว่าจะสามารถทำได้ทันที และเราจะเสนอต่อที่ประชุมได้แก่
1. นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะนโยบายนี้ขึ้นกับกระทรวงการคลัง และสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เคยพูดถึงในช่วงหาเสียงว่า “บัตรนี้ใช้แล้วเจ้าสัวรวย” ตรงนี้อาจจะเป็นการพูดเชิงการเมืองเท่านั้น เพราะตอนนี้ร้านค้าต่างๆที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้ได้ก็มีสินค้าด้านการเกษตรและภูมิปัญญาชาวบ้านขายอยู่ นอกจากนี้การรูดบัตรไม่จำเป็นต้องใช้เครืองรูดบัตรอย่างเดียว เนื่องจากนี้ตอนนี้มีแอปพลิเคชั่น ของธนาคารกรุงไทยมาใช้ได้แล้ว ซึ่งจะต้องมีการประชาสัมพันธ์ต่อไป
2.นโยบายพักหนี้เกษตรกร เพราะคิดว่าหลายพรรคการเมือง คนเห็นด้วยและไม่ต้องใช้งบประมาณมาก สามารถทำได้เลย เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
3.นโยบายมารดาประชารัฐ ที่จะได้ประมาณคนละ 180,000 บาท ซึ่งนโยบายนี้ช่วงหาเสียงพบว่ามีช่องโหว่คือการไม่ได้จำกัดอายุผู้ที่จะมีบุตร ซึ่งในรายละเอียดจะต้องมีการระบุอายุว่าต้องอายุเท่าไหร่ถึงจะรับเงินตรงนี้ เพื่อป้องกันปัญหา “แม่วัยใส”
นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนนโยบายกัญชาเสรี ของพรรคภูมิใจไทย เชื่อว่ารมว.สาธารณสุข จะเป็นคนดูแลเป็นหลัก โดยประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพรรคพลังประชารัฐมองว่าก็ควรเป็นนโยบายที่ควรขับเคลื่อนต่อไป ส่วนนโยบายที่มีแนวโน้มว่าจะต้องพูดคุยกันอย่างหนัก คือนโยบายเรื่องการเกษตร จากเดิมพรรคพลังประชารัฐเสนอให้ ราคาข้าวเปลือกเจ้า ต้องได้รับเกิน 10,000 บาทต่อตัน ส่วนข้าวหอมมะลิต้องได้เกิน 15,000บาทต่อตัน และเพิ่มค่าเก็บเกี่ยวจากไร่ละ 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท ซึ่งนโยบายนี้เป็นงบที่ผูกพันและต้องคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ว่า เห็นด้วยกับแนวทางนี้หรือไม่ หากไม่เห็นด้วยก็ต้องมาผสมกัน เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับได้
นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400 - 425 บาท เป็นนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐใช้หาเสียงและยอมรับว่า ตอนนี้ยังไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน เพราะการขยับขึ้น 400 – 425 บาทในทีเดียวจะมีผลกระทบต่อภาคเอกชนแน่นอน พรรคพลังประชารัฐ จึงจะเสนอให้ขึ้นค่าแรงในลักษณะเป็นขั้นบันได และทุกจังหวัดก็ไม่ใช่ว่าจะได้ค่าแรงเหมือนกัน ขึ้นกับทักษะ การประกอบอาชีพ ทั้งนี้วิธีการขึ้นค่าแรงแบบขั้นบันได ก็จะใช้กับนโยบายค่าแรงของปริญญาตรีขั้นต่ำที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้ 20,000 บาท/คน ส่วนผู้ที่จบอาชีวะ 18,000 บาท/ คน โดยเชื่อว่าจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน ทันทีที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา