จากจดหมายเรียกร้องหยุดโทษประหารชีวิตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า มีผู้ประท้วงอิหร่าน 11 ราย ที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต และมีอีก 15 ราย ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาชญากรรมลักษณะเดียวกัน ซึ่งอาจมีโทษถูกประหารชีวิต
มีผู้ประท้วงอย่างน้อยเป็นชาย 2 ราย ซึ่งถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอไปก่อนหน้านี้ หลังจากถูกจับกุมตัวเนื่่องจากการเข้าร่วมการประท้วงที่ปะทุขึ้นในทั่วทั้งประเทศของอิหร่าน ซึ่งเดินหน้าต่อเนื่องมาแล้วกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศาลอิหร่านตัดสินโทษประหารชีวิตต่อจำเลยด้วยเหตุผลว่าเป็น “ศัตรูต่อพระผู้เป็นเจ้า”
“มี 26 บุคคลซึ่งถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม รวมถึงสิทธิในการแก้ต่างที่เพียงพอและการเข้าถึงทนายความที่พวกเขาเลือกเอง การถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิที่จะไม่ให้ปากคำ และการได้รับการไต่สวนอย่างยุติธรรม” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุในจดหมายที่ส่งถึง โกลัมโฮสเซน โมห์เซนี อีเจ หัวหน้าตุลาการศาลอิหร่าน
การประท้วงในอิหร่านลุกลามขึ้นเมื่อช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา หลังจากการตายของ มาซา อามินี หญิงสาวชาวอิหร่านเชื้อสายเคิร์ด ซึ่งถูก “ตำรวจศีลธรรม” จับกุมตัวและทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ด้วยเหตุผลว่าเธอคลุมผ้าคลุมศีรษะฮิญาบไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนา ทั้งนี้ ผู้ประท้วงถูกเจ้าหน้าที่ของกองกำลังปกป้องการปฏิวัติอิหร่านสังหารไปแล้วกว่าหลายร้อยราย
การประท้วงในอิหร่านครั้งนี้ นับเป็นการประท้วงที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาในอิหร่าน นับตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งตรงกันกับช่วงการปฏิวัติอิสลามอิหร่าน อย่างไรก็ดี การปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงของทางการอิหร่าน ถูกประชาคมนานาชาติตั้งแต่สหภาพยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา และสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการละเมิดสิทธิสตรีในอิหร่านด้วย
ที่มา: