ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำชาติพันธมิตรตะวันตกสมาชิก G7 เสนอมาตรการจัดการกับราคาพลังงาน ด้วยการควบคุมราคาน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย เพื่อตัดรายได้ของรัฐบาล วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก

ในการประชุม G7 ซึ่งจะใช้เวลา 3 วัน และจัดขึ้นในรัฐบาวาเรียของเยอรมนี ผู้นำจากชาติ G7 ได้แก่ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา และ ญี่ปุ่น จะทำการหารือบนประเด็นการออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหารต่อรัสเซีย โดยมาตรการดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งหมายรวมถึงค่าครองชีพในโลกตะวันตก และประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ

“ปูตินรอมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า NATO และ G7 จะแตกแยกกันเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่เราไม่ได้แตกสลาย และเราจะไม่แตกสลาย” โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงที่ปราสาทบาวาเรีย ซึ่งเป็นสถานที่ในการประชุม G7 ที่มีเยอรมนีเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้

ขณะที่ชาติ G7 กำลังเริ่มการประชุมในเยอรมนี ในอีกฟากหนึ่งของยุโรป รัสเซียได้ทำการยิงขีปนาวุธโจมตีกรุงเคียฟของยูเครนอีกครั้ง และขยายการรุกรานดินแดนในยูเครนตะวันออกมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความกังวลว่าโลกตะวันตกไม่ได้ออกมาตรการที่ส่งผลให้รัสเซียตัดสินใจหยุดการรุกรานยูเครน นอกจากนี้ แผนการคว่ำบาตรการนำเข้าทองคำจากรัสเซียของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ยังคงไม่มีความก้าวหน้าใดๆ และยังไม่มีการแสดงความเห็นสนับสนุนจากทางสหภาพยุโรปแต่อย่างใด

มาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีอิตาลี วิพากษ์วิจารณ์การนำเข้าน้ำมัน และท่อส่งก๊าซจากทางรัสเซีย ในช่วงของการกล่าวเปิดการประชุม G7 โดยดรากีได้รับการสนับสนุนจากทาง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่มีท่าทีไปในทางเดียวกัน

การเสนอการควบคุมการจ่ายค่าพลังงาน คือ ข้อเสนอให้ประเทศยุโรปปฏิเสธการจ่ายค่าก๊าซสูงกว่าราคาคงที่ให้แก่รัสเซีย โดยมีข้อถกเถียงว่าในระยะเวลาสั้น รัสเซียจะไม่มีตลาดทางเลือก ที่จะสามารถส่งก๊าซผ่านท่อของตนไปยังประเทศปลายทางได้ และนอกจากรัสเซียจะมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับรายรับค่าพลังงานของตนที่จะลดลงอย่างมหาศาล จากการปิดท่อส่งก๊าซทั้งหมด รัสเซียก็จะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการขายพลังงานในราคาที่ยุโรปกำหนด อย่างไรก็ดี ก๊าซเหลวจะได้รับข้อยกเว้นจากมาตรการนี้

นายกรัฐมนตรีอิตาลีเชื่อว่า การขายพลังงานกึ่งผูกขาดของรัสเซียต่อยุโรปจะถูกควบคุมราคาได้ หากชาติ G7 ออกมาตราการควบคุมราคาน้ำมัน เพื่อให้รัสเซียขายราคาน้ำมันตามที่ทางตะวันตกกำหนด เนื่องจากภายหลังการคว่ำบาตร  รัสเซียกลับสามารถทำรายได้จากการขายพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวได้รับการสนุบสนุนจากทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งพยายามหาความร่วมมือกับชาติผู้ผลิตน้ำมัน OPEC ด้วย

ผลิตภัณฑ์น้ำมันของรัสเซียปรับตัวลดลง นับตั้งแต่มีการประกาศคว่ำบาตรน้ำมัน แต่รายได้ต่อบาร์เรลของน้ำมันรัสเซียกลับปรับตัวพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันในทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ก่อนการเกิดสงครามยูเครน และซ้ำร้ายลงหลังจากสงครามยูเครนปะทุขึ้นเมื่อ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวผิดไปจากการคาดการณ์ของโลกตะวันตกว่าการประกาศคว่ำบาตรน้ำมัน จะส่งผลกระทบต่อรัสเซียอย่างรุนแรง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นขั้วตรงกันข้าม

ปัจจุบันนี้ ชาติสมาชิก G7 อย่างสหรัฐฯ และแคนาดา ได้ประกาศคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ในขณะที่ชาติสหภาพยุโรปตกลงที่จะลดการนำเข้า และพึ่งพาน้ำมันรัสเซียให้เหลือเป็นศูนย์ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ เยอรมนีเป็นชาติที่กังวลต่อมาตรการควบคุมราคาน้ำมันมากที่สุด เนื่องจากเยอรมนีเป็นชาติยุโรปที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียมากที่สุดในภูมิภาค


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/jun/26/proposed-price-cap-on-russian-oil-moves-closer-at-g7-summit?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR2rDS9-X7kQXnzJJCAMGr72XzHd4MhimjZ34npq1soKOu_WEVXBZQVYGb8