วันที่ 3 เม.ย. นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนาของกระทรวงพลังงาน ดังนี้
กระทรวงพลังงานได้พิจารณามาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนาเพิ่มเติม ประกอบด้วย
1. การลดค่าครองชีพของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ
1.1 มาตรการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จากที่กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายในจำนวนที่ตายตัว (ร้อยละ 70 ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือน) ไม่ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะใช้ไฟฟ้าถึงจำนวนที่กำหนดหรือไม่ก็ตาม เป็นผ่อนผันให้จ่ายตามการใช้ไฟฟ้าสูงสุด
สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับการผ่อนผันจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3-7 เช่น กลุ่ม SMEs โรงงานอุตสาหกรรม และโรงแรม ให้มีผลตั้งแต่เดือน เม.ย. – มิ.ย. 2563 รวม 3 เดือน ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวลดค่าใช้จ่ายลงได้
1.2 การลดค่าไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 30 ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรือหอพักที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักหรือโรงพยาบาลสนาม 2 รูปแบบ คือ ที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือ ที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง ฯ
1.3 การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งประสบปัญหาการใช้น้ำมันที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน ทำให้ประสบปัญหาถังเก็บน้ำมันไม่เพียงพอ
1.3.1 ลดอัตราสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจากร้อยละ 6 โดย ระยะแรก : เป็น ร้อยละ 4 ระยะเวลา 1 ปี และ ระยะที่ 2 : เป็นร้อยละ 5 หลังจาก 1 ปี เป็นต้นไป
1.3.2 ขยายระยะเวลาการคงอัตราสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามกฎหมายที่ร้อยละ 1 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน (สิ้นสุด 30 มิ.ย. 2564)
1.3.3 สนับสนุนการเพิ่มปริมาณการจัดเก็บน้ำมันของคลังน้ำมันบริเวณคลองเตย บางจาก ช่องนนทรี กรุงเทพ ฯ เพื่อรองรับภาวะน้ำมันที่มีปริมาณล้นสต็อกโดยให้มีปริมาณการจัดเก็บน้ำมันสูงสุดได้ตามที่กฎหมายกำหนด
2. การส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมอาชีพด้านพลังงาน
2.1 เร่งรัดการลงทุนช่วงรอยต่อของแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช โดยในเบื้องต้นคาดว่า จะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 อัตรา ในการสร้างแท่นผลิต
2.2 ผลักดันให้เกิดกิจกรรมการรื้อถอนแท่นผลิตที่จะไม่ได้ใช้งาน โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะมีการรื้อถอนแท่นผลิตจำนวน 53 แท่น ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดการจ้างงานที่เป็นคนไทยกว่า 1,000 อัตราต่อปี (รื้อถอน 25 แท่น ต่อปี) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้วัสดุ อุปกรณ์หรือบริการจากภายในประเทศ เช่น การใช้เรือไทย โดยหารือกับผู้รับสัมปทานและกรมเจ้าท่า
3. การจัดหาแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนทั้งประเทศผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยกระทรวงพลังงานจะขอรับการจัดสรรงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประมาณ 220 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อแอลกอออล์แปลงสภาพสำหรับฆ่าเชื้อจากผู้ผลิตเอทานอลจำนวน 1,000 ลิตรต่อวันส่งให้ทุกจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศทางไปรษณีย์ให้กระทรวงมหาดไทยและส่งต่อให้ประชาชนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเวลา 60 วัน
4. การจำหน่ายแอลกอฮอล์ทำความสะอาด
โดย ปตท. จะนำร่องที่ PTT Station โดยจำหน่าย แอลกอฮอล์ทำความสะอาดที่สามารถใช้ทำความสะอาดมือโดยไม่ต้องล้างน้ำออก และใช้ทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไป ขนาด 1 ลิตร ต่อ1 ขวด ในราคา 110 บาท โดยเริ่มจำหน่ายในวันที่ 4 เม.ย. 2563 และคาดว่าจะมีผู้ค้าน้ำมันจำหน่ายแอลกอฮอล์ในสถานีบริหารน้ำมันเพิ่มเติมอีก อาทิ บางจาก เชลล์และเอสโซ่