วันที่ 8 พ.ค. 2566 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการจัดการเลือกตั้งที่ผิดพลาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ตอนนี้ไม่ได้สนใจอะไรภายนอกพรรค แต่เน้นเดินทางไปลงพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคและเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนเป็นหลัก พร้อมแสดงความเห็นถึงอุดมการณ์ของพรรคว่าไม่ชอบความแตกแยก ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ตั้งใจทำงาน และมุ่งจะเอาประเทศออกจากความขัดแย้งให้กลับมาสามัคคีดังเดิม จึงทำให้ไม่ได้ติดตามข่าวสาร แต่ยืนยันว่าที่ผ่านมายังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากลูกพรรคว่าเกิดความได้เปรียบเทียบเสียเปรียบ เพราะขณะนี้ต้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนให้เขามั่นใจแล้วเลือกเราเข้ามาทำงานมากกว่า
ส่วนสำหรับกระแสแบ่งแยกขั้วเก่ากับขั้วใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น อนุทิน มองว่า กระแสต่างๆ ถูกคนบางกลุ่มสร้างขึ้นมาเอง แต่คิดว่าพี่น้องประชาชนน่าจะแยกแยะออกว่าข้อมูลอะไรที่ไม่เป็นความจริง หรือข้อมูลอะไรที่ทำให้เขาได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่ประเด็นทางการเมืองแล้ว เพราะมีคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย ดังนั้นควรจะจำกัดวงผู้เล่นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมย้ำว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนได้รับการตรวจคุณสมบัติจาก กกต.มาหมดแล้ว จึงมั่นใจได้ว่าทุกคนผ่านเกณฑ์การคัดเลือก แต่หากบุคคลภายนอกยังเข้ามายุ่งในเรื่องนี้ก็จะยิ่งทำให้ปัญหามันบานปลายและไม่จบสิ้น พรรคภูมิใจไทยเลยเลือกที่จะไม่โต้ตอบให้เกิดความขัดแย้ง เพราะเรามั่นใจว่าได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชนแล้ว จึงเดินหน้าตามแนวทางของเรา
ส่วนหากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้วพบว่าผลคะแนนเป็นไปตามกระแสจากสื่อต่างๆจะทำให้ทิศทางของประเทศเปลี่ยนไปหรือไม่ อนุทิน กล่าวว่าพรรคภูมิใจไทยเชื่อมั่นในกระแสของตัวเอง และให้เกียรติพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งเวลาไปปราศรัยตนก็ย้ำกับชาวบ้านเสมอว่า หากได้กลับเข้าไปเป็นรัฐบาลพรรคพร้อมที่จะสนับสนุนทุกนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อไป โดยไม่ไปกีดกันอะไรทั้งสิ้น เพราะส่วนตัวมองว่านักการเมืองควรจะทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ หากทะเลาะกันประชาชนก็จะเป็นผู้เสียประโยชน์
“ดังนั้นการประกาศจับมือหรือไม่จับมือกับพรรคการเมืองใด ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เนื่องจากทุกพรรคเข้ามาได้เพราะประชาชนเลือกมา ไม่ใช่ของคนใดคนนึง หากไปพูดแทนความต้องการประชาชนก็เสมือนกับไม่เกรงใจเขา ย้ำว่าพรรคการเมืองไม่ได้เป็นบริษัท แต่เป็นของประชาชน จะทำอะไรก็ต้องคิดถึงเขาด้วย”
นอกจากนี้ ยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบางพรรคการเมืองที่ชูประเด็นต้องการให้เปลี่ยนประเทศกับไม่ต้องการให้เปลี่ยนประเทศ ว่า ”การหาเสียงด้วยวาทกรรม ไม่นำพาประเทศให้ไปไหน แล้วถ้าเปลี่ยนจะเปลี่ยนกันอย่างไร เปลี่ยนให้คนรักกันเกลียดกันหรือ แบบนี้สมควรเปลี่ยนหรือไม่ หากอะไรที่มีดีอยู่แล้ว คนมีความสุข และประชาชนรู้สึกร่มเย็นที่มีสถาบันดูแลประเทศมาหลายร้อยปี แล้วจะมาเปลี่ยนให้ไม่มีนั้นไม่ได้ ขนาดปี 2475 เขายังไม่เปลี่ยนกันเลย ฉะนั้นต้องคิดกันให้ดีๆ จะคิดเอามันไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของบ้านเมือง”